โฆษก กรธ. เผย วางกรอบทำงาน 9 ขั้นร่าง รธน. แล้วเสร็จส่งมอบ 30 มี.ค. ให้ รบ. ชงต่อกกต. เพื่อประชามติ กรธ. เครือข่ายคอยชี้แจงเนื้อหา ปชช. ให้รู้ว่าฉบับนี้ก้าวพ้นความขัดแย้งการเมือง แย้มร่างสุดท้าย เน้น หมวดศาล รธน. ให้สิทธิชี้ขาดวิกฤต ย้ำ ไม่สร้างองค์กรใหม่
วันนี้ (24 พ.ย.) นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลความคืบหน้าการประชุม ว่า ที่ประชุมได้วางกรอบการทำงานช่วงถัดไปโดยแบ่งออกเป็น 9 ขั้นดังนี้ 1. ภายในวันที่ 8 ม.ค. 59 กรธ. จะพิจารณาความคิดเห็นของประชาชน และข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาร่างแต่ละหมวดให้แล้วเสร็จ 2. ระหว่างวันที่ 11 - 17 ม.ค. เดินทางไปต่างจังหวัดพิจารณาร่างทั้งฉบับให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ การออกนอกสถานที่ไปทำงานนี้ ไม่ใช่เพื่อป้องกันการล็อบบี้ แต่เพื่อต้องการให้ กรธ. มีสมาธิทำงานได้อย่างเต็มที่ 3. ระหว่างวันที่ 18 - 26 ม.ค. จะทบทวนร่างและถ้อยคำ บทเฉพาะกาล ตลอดจนสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับพิมพ์เผยแพร่ 4. วันที่ 29 ม.ค ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกใหัหน่วยงานนำไปเผยแพร่ต่อประชาชาน เพื่อรับฟังความคิดเห็น
นายชาติชาย กล่าวว่า 5. ภายในวันที่ 15 ก.พ. 59 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และบุคคลทั่วไป จะต้องส่งความคิดเห็นข้อเสนอแนะต่อ กรธ. 6. ระหว่างวันที่ 16 ก.พ. - 20 มี.ค. ปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอแนะ 7. ระหว่างวันที่ 21 - 28 มี.ค. ตรวจสอบความสอดคล้องของถ้อยคำ 8. วันที่ 29 มี.ค. ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ และ 9. วันที่ 30 มี.ค. จะทำพิธีส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้กับรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่กำหนดให้ กรธ.ต้องยกร่างฯภายใน 180 วัน
นายชาติชาย กล่าวว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ทางรัฐบาลก็จะนำร่างส่งให้ กกต. เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดออกเสียงประชามติในเดือน ก.ค. ว่า จะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ส่วนกรธ. และเครือข่ายเองก็จะทำหน้าที่ชี้แจงเนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชน ตลอดระยะเวลากว่า 3 - 4 เดือน ก่อนทำประชามติ เพื่อชี้ให้เห็นข้อดีว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะช่วยเราก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาพัฒนาประเทศเหมือนที่ผ่านมาอีก
นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ส่วนการพิจารณาเนื้อหารายมาตราขณะนี้ยังคงอยู่ในส่วนศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องอำนาจหน้าที่ โดยจะให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจชี้ขาด ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ้นจากตำแหน่ง หากพบว่า ขัดคุณสมบัติ หรือประพฤติขัดจริยธรรม ส่วนองค์กรที่มีอำนาจส่งให้ศาลวินิจฉัย ก็น่าจะเป็นไปตามกลไกเดิม คือ ป.ป.ช. สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. ส.ว. และบุคคลทั่วไป อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาส่วนศาลเสร็จแล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาโครงสร้างอำนาจฝ่ายบริหาร
“เราใช้เวลาพิจารณากับหมวดศาลรัฐธรรมนูญอยู่นานพอสมควร เพราะเราอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรายังหวังว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรที่พึ่งสุดท้าย ที่จะคอยวินิจฉัยข้อขัดแย้ง จากวิกฤตการเมืองที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในวันข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่เรายืนยันมาตลอดว่า ไม่อยากสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมา” นายชาติชาย กล่าว