รองนายกฯ เผยนายกฯ คงมีตำตอบในใจ ทางออกเลือกตั้งแม้ รธน.ไม่ผ่านประชามติ แย้มเสนอแก้ รธน.ชั่วคราวอาจคนละทางกัน แม่น้ำ 5 สายพิจารณาร่างไม่นาน รับเป็นไปได้หยิบ รธน.เก่าใช้แก้ขัด ปฏิรูปต้องปลี่ยนจากเดิม ชี้ให้อำนาจศาล รธน.ให้ความชัดเจนเรื่องเสี่ยงว่าผิดหรือไม่ ไม่ใช่ให้มาหาทางออก ตัดปัญหาขัดไม่ขัด รธน. ให้ฟันธงช่วงเกิดปัญหา คปป.เข้าคุมสถานการณ์
วันนี้ (31 ธ.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุมีทางออกที่จะไปสู่การเลือกตั้งแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติว่า ตนได้ยินนายกฯ พูดเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา บอกว่าคิดไว้ในใจ จึงยังไม่ได้พูดคุยกับตน รวมถึงในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้ นายกฯ คงมีคำตอบอยู่ในใจ ส่วนทางออกของตนนั้นจะเป็นทางออกในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่อาจเป็นคนละทางกับนายกฯ และสิ่งที่ตนคิดก็ไม่จำเป็นต้องทำตามตน เพราะต้องเสนอนายกฯ พิจารณาอีกครั้งซึ่งยังไม่ถึงเวลาจะพูดตอนนี้เพราะร่างรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อรัฐธรรมนูญร่างแรกออกมาแล้วคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องส่งให้แม่น้ำ 5 สาย ในส่วน ครม.จะใช้เวลาพิจารณานานหรือไม่ก่อนจะส่งความเห็นกลับ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่นาน ถ้าเสียเวลาดูนาน กรธ.จะมีเวลาแก้ตอนไหน เพราะกรธ.บอกว่ารัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายจะเสร็จปลายเดือนมีนาคม 59 แต่ทางที่ดีบางเรื่องที่มีความชัดเจนก่อนร่างแรกจะออกมาก็คุยกันก่อน และเมื่อร่างแรกออกมาแล้วจะไปดูในมาตราที่ไม่เคยเห็น แม้ตนได้เห็นแล้วเกือบร้อยมาตรา แต่ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไรไป รอให้ร่างเป็นชิ้นเป็นอันก่อน
เมื่อถามว่า การหยิบรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ มาใช้ ถือเป็นทางออกกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นทั้งนั้น พูดกันมานานแล้ว หากทำใหม่ภายใน 7 วันอาจจะเร็วกว่าเอาฉบับเก่าๆ มาใช้ด้วยซ้ำไป ถ้าพูดถึงความเป็นไปได้มันได้ทั้งนั้น แต่ตนไม่รู้ ยืนยันว่ายังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ต่อข้อถามว่า หากนำรัฐธรรมนูญ ปี 40 และ 50 มาใช้จะมีคำถามกลับว่าย่ำอยู่ที่เดิมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ นายกฯ ย้ำหลายครั้งว่ารัฐธรรมนูญที่จะร่าง ต้องดูว่าร่างเพื่ออะไร คำตอบคือ ร่างเพื่อปฏิรูป ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงจากเดิม ถ้ากลับไปเหมือนเดิมจะปฏิรูปทำไม ดังนั้น ต้องไม่เหมือนเดิม คิดว่าหลังปีใหม่ตนต้องพูดเรื่องนี้อย่างเป็นทางการสักครั้ง
เมื่อถามว่า ดูเหมือน กรธ.จะให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเป็นพิเศษในการแก้วิกฤตทางการเมืองจนหลายฝ่ายเกิดความกังวล นายวิษณุกล่าวว่า ตนเห็นว่าดี เพราะอำนาจที่ให้คืออำนาจวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาในการดำเนินการ แต่ไม่ใช่ว่ารัฐบาล ณ เวลาที่เกิดวิกฤตคิดทางออกไม่ได้แล้วมาขอศาลรัฐธรรมนูญหาทางออกให้ซึ่งไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องที่เสี่ยงทำแล้วจะผิด จึงเป็นเพียงการขอความชัดเจนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าผิดหรือไม่ผิด ถ้าผิดก็ไม่ต้องทำ ส่วนอำนาจเรื่องอื่นที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญตนก็ไม่เห็นด้วย
รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่หาทางออกไม่ได้ ทะเลาะกันอยู่อย่างนี้จะทำอย่างไร ไม่ใช่เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนชี้ทางออกว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้จะเอาอย่างไรดี แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่บอกว่าเรื่องที่จะทำนั้นถูกหรือผิด แทนที่จะรอให้ทำไปก่อนแล้วไปถาม ปรากฏว่ากลายเป็นผิด ตอนนั้นก็ซวยไปแล้ว จึงให้ถามศาลรัฐธรรมนูญได้ก่อนที่จะทำในเฉพาะเรื่องผิดหรือถูกรัฐธรรมนูญเท่านั้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าผิดแล้วยังทำก็ถูกฟ้องโดยไม่มีข้อแก้ตัว เพราะมีการเตือนแล้ว นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะให้ข้อเสนอแนะใดๆ ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีหน้าที่บอก
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า ที่แล้วมาไม่มีการถามอะไรทั้งนั้น ทำก่อนแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ให้ อย่างเรื่องตั้งนายกฯ คนนอก ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ บางคนบอกว่าขัด บางคนบอกไม่ขัด สมัยก่อนถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเขาก็ไม่ตอบ เพราะเป็นปัญหารัฐธรรมนูญ ถามศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าตอบไม่ได้จนกว่าจะตั้งให้ดูก่อน แล้วผิดจะทำอย่างไร ครั้งนี้ถ้าให้ถามไปก่อนจะตั้ง แล้วศาลรัฐธรรมนูญว่าผิดก็ไม่ควรดันทุรังตั้งอีก
เมื่อถามย้ำว่า ถ้าให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ แล้วองค์กรอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ก็ไม่จำเป็นต้องมีอีกใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ที่พูดอยู่นี้คือองค์กรที่จะชี้ถูกชี้ผิดในข้อกฎหมาย ดังนั้น ต้องมีใครสักคนมาชี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในช่วงเวลาเกิดวิกฤตหรือใครที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ถ้ารัฐบาลชี้แล้วคนยอมรับก็จบ แต่ถ้าไม่ยอมรับจะทำอย่างไร ที่พูดถึงคปป.กรณีเข้ามาเพื่อคุมสถานการณ์ตรงนี้ให้ได้ แต่ถ้ารัฐบาลคุมได้คงไม่มีวันมอบให้ใครเป็นคนคุมอยู่แล้ว แต่ถ้ารัฐบาลคุมไม่ได้จะต้องมีใครสักคนเข้ามาในช่วงเวลาเกิดปัญหา แต่ขอให้มีผู้ให้คำตอบว่าควรหรือไม่ควรให้เข้ามา เพื่อจะให้เหตุการณ์สงบ ซึ่งรัฐบาลฟันธงเห็นด้วยว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นคนชี้