ลุกลามใหญ่โต สั่นสะเทือนวงการบันเทิงไทย เมื่อมีภาพนางเอกดังช่อง 3 "แพท ณปภา ตันตระกูล" ร่วมวงอยู่ในคลิปวัยรุ่นรุมตบกัน แม้ดาราสาวจะออกมาเปิดเผยว่า เป็นเรื่องระหว่างหลานสาว และคู่กรณี ไม่ใช่เรื่องการแย่งผู้ชาย แต่คลิปดังกล่าวได้กลายเป็นภาพสะท้อนให้เห็นปัญหาทะเลาะวิวาทของเด็กวัยรุ่นที่ยังคงตบหน้าสังคมตามสื่ออยู่เรื่อยๆ จนต้องตั้งคำถามขึ้นมาว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยยุคนี้
คลิปตบ สะเทือนวงการ!
กลายเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนขณะนี้ สำหรับกรณีคลิปหลุดวัยรุ่นรุมตบกัน โดยหนึ่งในนั้นมีภาพของนางเอกดังช่อง 3 "แพท ณปภา ตันตระกูล" ร่วมวงอยู่ด้วย จุดประเด็นวิพากษ์สนั่นโลกออนไลน์จนเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ถูกตั้งคำถามตามมาของผู้ใช้สื่อโซเชียลหลายคนถึงความจำเป็นต้องรู้เรื่องคนอื่น นอกจากนั้นยังสะท้อนปัญหาความรุนแรงในกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่นับวันจะยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น
ล่าสุด ดาราสาวเปิดใจถึงที่มา และเหตุการณ์ในคลิปรุมตบผ่านรายการเจาะข่าวเด่น โดยมีผู้ประกาศข่าว "สรยุทธิ์ สุทัศนะจินดา" ดำเนินรายการ โดยเธอย้ำว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระหว่างหลานสาว และคู่กรณี ไม่ใช่เรื่องการแย่งผู้ชายกันอย่างแน่นอน "คนแบบนี้แพทไม่แย่งแน่นอน" เธอยืนยัน ก่อนจะชี้แจงในประเด็นที่หลายคนสงสัย
"ประเด็นแรกที่หลายคนสงสัยมากๆ ทำไมต้องมีเรื่องนี้เกิดขึ้น แพทขอโทษจริง ๆ ที่มีเหตุการณ์คลิปแบบนี้ออกมา ไม่ควรเกิดขึ้น ตัวแพทไม่แฮปปี้กับเหตุการณ์นี้ หลายคนถามว่าทำไมไม่เลี่ยง สถานการณ์นี้แพทเลี่ยงแล้ว ซึ่งต้องขอโทษด้วย ตัวแพทเองขอโทษที่หลานเราพูดจาไม่ดี วุฒิภาวะเขาต่ำ เขาโมโห เลยพูดออกไป ขอโทษ และจบไปแล้ว ไม่ต่ออะไรอีกเลย หลังจากนั้นฝั่งเขาไม่จบ เขาให้คนโทร.มาหาอีกรอบหนึ่ง ยืนยันว่าหลานโพสต์รุนแรง ยอมรับว่าหลานผิด เป็นเรื่องการเคลียร์กัน"
ส่วนประเด็นสั่งตบ เธอชี้แจงว่า หากใครได้ดูคลิปตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีคำว่าสั่งตบเลย มีแต่คำว่า ห้ามรุม อย่ารุม ออกไป อย่าทำ
"ในคลิปได้ยินมั้ยคะ คลิปถ่ายตั้งแต่ต้นจนจบ จนเสื้อฟ้าหนีขึ้นมอเตอร์ไซค์ออกไป มีแต่คำว่าห้ามรุม อย่ารุม ออกไป อย่าทำ มีตรงไหนว่าสั่งตบ ครั้งแรกแพทเดินไปบอกผู้หญิงเสื้อฟ้าว่าเคลียร์มั้ย ถ้าจะเคลียร์ก็เข้าไปเคลียร์ เพื่อนสะกิดไม่ให้เข้าไป เราก็บอกว่าแล้วแต่นะ ไม่เคลียร์ก็ดีเหมือนกัน รอตำรวจมา แต่เขาก็มุดเข้ามา แต่ถ้าบอกว่าฝั่งเขาไม่เตรียมตัวมาแพทไม่เชื่อค่ะ"
ทั้งนี้ ดาราสาวยอมรับว่า หลานสาวผิดจริง เพราะเป็นคนเริ่มก่อน แต่ไม่ได้มีการรุมตบกันอย่างที่เป็นข่าว
"แพทต้องยอมรับหมดเลยว่าหลานสาวแพทผิดจริง ๆ บอกไว้เลยนะคะว่าวัยรุ่นต้องมีสติกว่านี้ ระหว่างเขาเข้าไปเคลียร์ เสื้อฟ้าเดินไปกับเพื่อน อยู่ดี ๆ เพื่อนเขาก็หนีออกไปเลย ทิ้งเสื้อฟ้า ระหว่างคุยกัน หลานก็เข้าไปหาเขาก่อนเลย แล้วก็ล้ม แล้วก็นัวกัน ยอมรับว่าหลานเริ่มก่อน แล้วล้มใส่เขาแล้วตีกัน ในคลิปจะเห็นเลยว่าเขาทำกันอยู่สองคนไม่ได้รุมนะคะ หนูเลยไม่เข้าใจว่าไอ้คำว่ารุมมาจากไหน"
คลิกอ่านบทสัมภาษณ์เปิดใจทั้งหมดได้ที่นี่ "แพท" ร่ำไห้! เสียใจถูกตราหน้าใฝ่ต่ำคบเด็กแว้น แจงไม่เคยสั่งตบคู่กรณีหน้าแหก
ด้านคู่กรณีของดาราสาว บอกว่า ไม่ใช่กรณีแย่งผู้ชาย แต่เป็นประเด็นความไม่พอใจหลานสาวของดาราสาวที่ใช้คำพูดหยาบคายจึงได้นัดเคลียร์เพื่อให้เรื่องจบ และไม่ได้ตั้งใจมีเรื่องตบตี แต่หลานสาวของดาราดังเริ่มก่อน โดยวิ่งเข้ามาใส่จนเกิดเป็นคลิปตบตีอย่างที่เห็น
สะท้อนสังคม "ตบ ตี เตะ ตื้บ"
ประเด็นนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องของตำรวจ แต่เป็นปัญหาที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในระดับครอบครัว อิทธิพลของสื่อ รวมไปถึงพื้นฐานทางสังคมที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ
ในรายงานสุขภาพคนไทยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้มุมมองในประเด็นเด็กไทยกับการใช้ความรุนแรงไว้ว่า การวิวาทจากนักเรียนชายสู่นักเรียนหญิงมีมากขึ้น จากเดิมที่นักเรียนหญิงต้องอยู่ในกรอบ เด็กผู้หญิงจะกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้นในหลายๆ เรื่อง อาทิ การแข่งขันกันแต่งกายเพราะมองว่าร่างกายเป็นของฉัน การมีเสรีภาพในการคบเพื่อนต่างเพศ และพยายามสร้างปมเด่นในสังคมของเด็กๆ เพื่อคุยโอ้อวดถึงประสบการณ์การมีแฟน และมีบางกิจกรรมที่ต้องทำให้สังคมยอมรับ ฉะนั้นเมื่อมีคนมาแย่งแฟนก็ต้องแสดงกิจกรรมให้ดู เช่น ลากไปตบ ด่า เป็นต้น
ดังนั้น วัฒนธรรมของนักเรียนหญิงจึงเปลี่ยนไป จากความเป็นหญิงที่ต้องอยู่ในกรอบ มาเลือกที่จะใช้วิธีการของเด็กผู้ชายในการระงับความขัดแย้งจนหลายคนเข้าไปอยู่ในวัฎจักร "ตบ ตี เตะ ตื้บ" ไปแล้ว โดยสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยตกอยู่ในเบ้าหลอมของการใช้ความรุนแรงดังกล่าว
มีผลการวิจัยของโครงการติดตามสภาวการณ์เด็ก และเยาวชนรายจังหวัด พบว่า เงื่อนไขที่ส่งให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่พฤติกรรมความรุนแรงมาจากหลายทาง ทั้งจากครอบครัวแตกแยกที่ทำให้เด็กเกิดความเก็บกด อิทธิพลของสื่อที่ทำให้เด็กเกิดความชาชินกับความรุนแรงที่เห็น และพื้นฐานทางสังคมโดยเฉพาะการทำให้เด็กเข้าถึงอบายมุขได้ง่าย
ส่วนหนทางแก้ไขในระยะยาวมีนักวิชาการหลายคนเสนอไว้เป็นทางออกคล้ายๆ กันในหลายเวที หลายบทความ โดยหลักๆ คือ ต้องทำให้เด็ก และวัยรุ่นรู้จักวิธีจัดการความรุนแรง และโรงเรียนควรสอนทักษะการใช้ชีวิตมากขึ้นเพื่อให้รู้จักคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสันติวิธี
เลี้ยงลูกอย่างไรโตไปไม่ตบ
แน่นอนว่า พฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้น หากจะแก้ต้องแก้จากครอบครัว ทีมข่าวผู้จัดการ Live ถือโอกาสรวบรวมข้อเสนอแนะจากคุณหมอ นักวิชาการ รวมไปถึงบทความต่างๆ มาฝากกัน โดยหวังว่าจะเป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ไม่ใช้ความรุนแรงระงับความขัดแย้ง เริ่มจาก
- ไม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว และต้องรู้จักระงับอารมณ์ของตัวเอง โดยเฉพาะคนเป็นพ่อเป็นแม่ หากสะกดอารมณ์ไม่อยู่ต้องตีกันสักเพี๊ยะสองเพี๊ยะ นั่นเป็นแค่การแสดงอารมณ์โกรธ และตีเพื่อระบายอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งเท่ากับเป็นการสอนเรื่องการใช้ความรุนแรงให้กับลูกไปในตัว
- ในกรณีที่ลูกเล็กทำร้ายร่างกาย หรือทำลายข้าวของ ต้องหยุดลูกโดยไม่ใช้ความรุนแรงตอบ เช่น ควรจับมือเพื่อให้ลูกหยุดตี หรือทำร้าย หรืออาจหยุดด้วยการกอดเด็กไว้แน่นๆ และโยกตัวลูกเบา ๆ แต่ถ้าลูกเริ่มรู้จักระงับอารมณ์มากขึ้น ควรเปลี่ยนจากการจับให้หยุดมาเป็นหยุดด้วยคำพูด เช่น พูดว่า "ทำไม่ได้" "ไม่อนุญาต" เป็นต้น
- ไม่ปล่อยให้เด็กเสพติดเทคโนโลยีมากเกินไป โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เพราะนอกจากกระตุ้นให้เด็กมีความหงุดหงิด และโมโหง่ายแล้ว ยังทำให้อยากรู้อยากลอง เช่น ใช้กล้องบันทึกเรื่องราวต่างๆ เพื่อเอามาอวดกัน ไม่แปลกที่จะพบเห็นคลิปตบตีออกมามากมาย
- จริงอยู่ที่ความรุนแรงในละครไม่ได้ไม่ซึมซับเข้าไปในนิสัยใจคอของคนดูอย่างโจ่งแจ้ง หรือทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในทันที แต่มันเป็นสิ่งที่เด็ก หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองมองไม่เห็นชัดๆ และรับมันเข้าไปในใจโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ทางสมาคมกุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็กจึงแนะนำว่า เด็กแรกเกิดถึง 18 เดือนไม่ควรดูทีวี วัย 18 เดือนถึง 4 ขวบไม่ควรดูเกินวันละครึ่งชม. เด็กวัย 4 ขวบขึ้นไปไม่ควรดูทีวีนานเกินวันละ 1 ชม. และต้องเลือกโปรแกรมที่ดีเท่านั้น ไม่ให้ดูประเภทต่อสู้ หรือตบตี ป้องกันการเลียนแบบที่อาจส่งผลร้ายตามมา
ส่วนโรงเรียน ครู อาจารย์ต้องเปดพื้นที่ทางสังคมใหเด็กไดมีโอกาสทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชนทำงานเพื่อคนอื่นเพื่อจะไดสัมผัสถึงความเอื้ออาทรที่มีตอคนอื่น และไดรับความรัก ความขอบคุณ ความเมตตากลับมา ซึ่งเป็นทางออกใหกับเด็กวัยรุนที่ต้องการแสดงออก และไดรับการยอมรับจากคนรอบขาง
เห็นได้ว่า การใช้ความรุนแรง เป็นปัญหาทางสังคมที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขตั้งแต่ที่บ้าน และโรงเรียน หากมองข้าม ไม่เหลียวแล เด็กในวันนี้อาจโตไปเป็นวัยรุ่นที่เข้าไปอยู่ในวัฎจักร "ตบ ตี เตะ ตื้บ" จนยากที่จะเรียกคืนความน่ารัก สดใสกลับมา บางรายอาจจะหมดอนาคต หรือจบชีวิตไปเลยก็เคยมีให้เห็นเป็นอุทาหรณ์มาแล้ว
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754