xs
xsm
sm
md
lg

“ร่วมจ่ายคือสองมาตรฐาน จุดเริ่มหายนะหลักประกันสุขภาพไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยนับว่าก้าวหน้ามากในระดับโลก จนได้กลายเป็นผู้นำสำคัญในระบบสุขภาพของนานาประเทศที่ได้รับการชื่นชมจากนานาอารายประเทศ แต่ภาวะหลักประกันสุขภาพในประเทศ กลับทำท่าจะง่อนแง่น เพราะผู้บริหารไม่แม่นในหลักการ
หลักประกันสุขภาพไทยคือสวัสดิการสังคมที่ดีที่สุดที่คนไทยได้รับ แม้จะรอนานบ้าง บริการยังไม่ประทับใจ ยังแออัด แต่ก็ทำให้ทุกคนสามารถไปโรงพยาบาลได้โดยไม่มีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงินเก็บเงินออมมากพอ
งบแค่ไหนถึงพอ เป็นเรื่องที่ชวนถกเถียงทางวิชาการ แต่การแก้ปัญหางบไม่พอด้วยการร่วมจ่ายนั้นจะทำให้มีการแบ่งคนถือบัตรทองเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ต้องร่วมจ่าย กับกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสหรือคนยากจนที่รัฐยังต้องให้ฟรี ซึ่งจะนำมาไปสู่การให้บริการสองมาตรฐานในที่สุด คนร่วมจ่ายจะได้คิวผ่าตัดก่อน คนร่วมจ่ายจะได้ยาอีกบัญชี คนร่วมจ่ายจะมีบริการในช่องทางพิเศษ เป็นต้น ซึ่งไม่แปลกเพราะทุกโรงพยาบาลก็ต้องการมีรายได้เพิ่ม สองมาตรฐานจะเกิดขึ้นในทันที และทำให้บัตรทองกลายเป็นบัตรสงเคราะห์เหมือนรถไฟชั้นสามเช่นในอดีต คนจนจะเป็นคนชั้นสองชั้นสาม ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้นอีกมาก
ในเบลเยียม ประชาชนทุกคนต้องร่วมจ่าย แต่คนจน คนพิการ คนสูงอายุ คนตกงาน ต่างได้รับเงินสวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐเฉลี่ยเดือนละ 1,000 ยูโร หรือร่วมสี่หมื่นบาท เขาจึงสามารถเดินระบบร่วมจ่ายได้ แต่ถึงกระนั้นก็ทำให้คนจนจำนวนมากไม่กล้าไปหาหมอ เพราะเงินที่มีร่วมจ่ายไม่พอ ทำให้การเข้าถึงการรักษาล่าช้า กว่าจะไปหาหมอก็เมื่อเจ็บจนทนไม่ไหวหรืออาการหนักแล้วก็มี
การเจ็บป่วยไปโรงพยาบาลไม่เหมือนไปนอนพักโรงแรม ไปเที่ยวไปนอนโรงแรมเรารู้ว่าเราจะต้องจ่ายเท่าไร แต่เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลนั้น ยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าต้องร่วมจ่ายเท่าไหร่ เมื่อคนจนไม่มีเงิน แต่เพื่อให้มีเงินติดกระเป๋าก่อนไปโรงพยาบาล ก็จะทำให้เกิดปรากฏการณ์จำนองที่นาจำนำทรัพย์สินหรือการกู้เงินนอกระบบเพื่อไปหาหมอจะกลับมาอีก ความล้มละลายเพราะเจ็บป่วยจะกลับมาหลอกหลอนคนจนอีกครั้ง
หัวใจประการสำคัญของระบบประกันสุขภาพ คือ ความเสมอภาคเท่าเทียมของระบบ คนทุกคนไม่ว่ารวยจนมีจ่ายหรือไม่มีจ่ายต้องใช้บริการโรงพยาบาลเดียวกัน คิวเดียวกัน ยาเหมือนกัน หมอทีมเดียวกัน มาตรฐานการรักษาเดียวกัน ต่างกันก็เพียงนอนเตียงสามัญหรือห้องพิเศษเท่านั้น นี่คือสิ่งที่จะดำรงความเสมอภาคและคุณภาพในระบบการรักษาพยาบาล
หากแยกโรงพยาบาลรัฐเป็นสองฟาก อาทิเช่น ฟากหนึ่งปิยะการุณย์สำหรับคนมีเงินคนพร้อมร่วมจ่าย อีกฟากหนึ่งตึกเก่าสำหรับคนจนคนถือบัตรทอง เช่นนี้ก็ผิดหลักอุดมคติสากลในการจัดระบบบริการสุขภาพที่ต้องมีความเท่าเทียมเป็นธรรมกับคนทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนแล้ว หากภาพเช่นที่ศิริราชเกิดกับทุกโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข หายนะของการเข้าถึงบริการจะมาเยือนอย่างแน่นอน
การที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร จะผลักดันการร่วมจ่าย ด้วยเหตุที่ว่างบประมาณไม่เพียงพอนั้น จะทำให้คนจนเข้าถึงบริการสุขภาพลดลง ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคนถือบัตรทองร่วมจ่าย แต่ข้าราชการไม่ต้อวร่วมจ่าย นี่หรือคือความยุติธรรม
หากงบไม่พอก็แก้ที่งบไม่พอ สิ่งที่ควรทำคือ การเก็บภาษีสินค้าทำลายสุขภาพหรือสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้นอีก เช่น ภาษีเหล้า บุหรี่ชาเขียว อาหารเสริม รถหรูค่าภาคหลวงเหมืองแร่ หรือแม้แต่ภาษีที่ดินหรือภาษีมรดก และต้องระบุ earmark ในระบบงบประมาณว่าใช้ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้นำงบเหล่านั้นไปสร้างทางด่วน หรือซื้อเรือดำน้ำ
ระบบประกันสุขภาพของไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีความอับจนจำเป็นที่ต้องมีระบบร่วมจ่าย มิเช่นนั้นจะเกิดสองมาตรฐานในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะหมายถึงหายนะของสุขภาพคนจนสุขภาพคือสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ที่ต้องไม่มาแบ่งกลุ่มตัดเกรดแยกบริการว่ารวยหรือจน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น