รมว.สธ. ยันไม่มีการฟรีซงบและจ้องล้ม สสส. ชี้ เปิดประชุมบอร์ด สสส. ได้ เหตุองค์ประกอบครบ ด้าน “หมอวิชัย” ย้ำ มีขบวนการล้มแน่ แต่ไม่ได้ทำอย่างเปิดเผย เมินถูกท้าเปิดโปงหลักฐานล้ม สสส. บอกแค่แจ้งเบาะแส โยนรัฐต้องทำหน้าที่สืบต่อ เอ็นจีโอลั่นยังจับตาสรรหาบอร์ด สสส. แม้ คตร. เลิกสกรีนงบ
จากกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งปลดกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จำนวน 7 คน โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานกองทุน สสส. คนที่ 2 ซึ่งถูกปลดด้วยนั้น ออกมาระบุว่ามีขบวนการล้ม สสส. โดยมีบริษัทเหล้าและบุหรี่อยู่เบื้องหลัง ขณะที่กลุ่มเอ็นจีโอที่รับทุน สสส. ได้รวมตัวกันในนาม “ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน” ออกมาคัดค้านคำสั่งดังกล่าว และจะมีการประชุมใหญ่เพื่อหามาตรการเคลื่อนไหวในวันที่ 11 ม.ค. 2559
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธาน สสส. คนที่ 1 กล่าวว่า ไม่มีการแช่แข็งโครงการที่ได้รับงบประมาณจาก สสส. และไม่มีการล้ม สสส. แน่นอน เพราะโครงการจำนวนมากเป็นสิ่งที่ดีมาก สำหรับการประชุมบอร์ด สสส. ในครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าจะจัดวันที่ 15 ม.ค. 2559 ยืนยันว่า เปิดประชุมได้ เพราะองค์ประกอบการประชุมครบถ้วน แม้จะขาดกรรมการ 7 คน โดยจะมีการพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาบอร์ด สสส. ส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิแทนผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง และจะรับรองระเบียบข้อบังคับทั้ง 26 ฉบับที่มีการแก้ไขปรับปรุง ซึ่งบอร์ดให้ความเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2558 เพื่อมีการบังคับใช้ต่อไป ซึ่งเมื่อระเบียบข้อบังคับที่แก้ไขออกมาใช้บังคับ และโครงการต่าง ๆ ที่รับทุนจาก สสส. หากดำเนินการถูกต้องและครบถ้วนตามระเบียบก็น่าจะดำเนินการต่อไปได้เลย ไม่มีการล้ม สสส. แน่นอน สิ่งที่จะทำคือทำให้ สสส.เดินหน้าต่อไปด้วยดี ไม่ติดขัด
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี นพ.วิชัย ระบุว่า มีขบวนการจ้องล้ม สสส. นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ตนไม่เห็นว่ามีและไม่เห็นภาพแบบนั้น ยืนยันว่า คณะกรรมการที่ตนเป็นกรรมการไม่เคยคิดล้ม สสส.
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ที่ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนจะมีการเคลื่อนไหว นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องเป็นผู้ที่มีทั้งคุณวุฒิและไม่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับ เชื่อว่าภาคประชาสังคมทุกคนพร้อมช่วยกันทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ
ด้าน นพ.วิชัย กล่าวว่า นพ.ปิยะสกล ย่อมต้องพูดเช่นนั้นว่าไม่มีการล้ม สสส. เพราะกระบวนการจ้องล้ม สสส. ไม่ได้ทำอย่างเปิดเผย แต่เห็นชัดจากกรณีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเมื่อกลางปี 2558 ที่มีการปิดห้องจัดทำร่างอย่างลับๆ โดยไปเขียนในมาตราหนึ่ง ว่า ไม่ให้ส่งเงินภาษีมาที่ สสส. โดยตรง เรื่องนี้มีข่าวชัดเจน สืบค้นได้ หลักฐานก็ชัดอยู่ในตัวร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่จะให้หาหลักฐานนั้น ต้องถามกลับว่า ประชาชนไม่ได้มีกลไกในการสืบหาข้อมูลข้อเท็จจริงเชิงลึกมากมายขนาดนั้น จะไปสืบหาอย่างไร ประชาชนเป็นเหมือนผู้แจ้งเบาะแส แต่รัฐบาลผู้มีอำนาจมีกลไกในการสืบค้น ก็ควรต้องทำหน้าที่หรือไม่ มิเช่นนั้นจะมีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่ออะไร และการแจ้งเบาะแสครั้งนี้ก็ไม่ใช่เลื่อนลอย เพราะเรื่องร่างรัฐธรรมนูญก็ปรากฏเป็นข่าวชัดเจน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี คตร. ปลดล็อกการสกรีนงบโครงการ สสส. ไม่ต้องขออนุมัติแล้ว นพ.วิชัย กล่าวว่า ต้องมาดูรายละเอียดว่าปลดล็อกจริงหรือไม่ คงต้องถาม คตร. ว่า ตกลงมีอะไรที่ปลดล็อกการทำงานของ สสส. บ้าง
เมื่อถามว่าการปลดล็อกครั้งนี้มีบางกลุ่มมองว่า เพราะมีการปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. แล้ว จึงอาจเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่องค์กร นพ.วิชัย กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ดูกันต่อไป
นายคำรณ ชูเดชา เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ หนึ่งในเครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน กล่าวถึงการหารือกันวันที่ 11 ม.ค.นี้ เพื่อหามาตรการเคลื่อนไหวว่า เป็นการนัดหารือตัวแทนจากทุกเครือข่ายเพื่อกำหนดแนวทางและประเมินสถานการณ์ต่อไป เพราะล่าสุด คตร. แจ้งว่า กระบวนการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เหมือนเดิม ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในแนวทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาการสรรหาบอร์ด สสส. เพื่อไม่ให้คนที่เป็นนอมินีของธุรกิจที่เสียประโยชน์จากการทำงานของ สสส. หรือคนที่มีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำงานของ สสส. เข้ามาอยู่ในบอร์ด ซึ่งต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ยังให้ สสส. ได้ดำเนินการสรรหาด้วยวิธีการปกติ รวมถึงจับตาการสรรหาผู้จัดการ สสส. ด้วย ซึ่งจะมีการสรุปแนวทางที่จะดำเนินการต่อไป
นายคำรณ กล่าวว่า ประเด็นที่จะมีการหารือเพื่อวางแนวทางร่วมกันต่อไป คือ ประเด็นการตีความของกรมสรรพากร ที่ตีความว่าองค์กรเอกชนที่ไปขอรับเงินสนับสนุนจาก สสส. จะต้องถูกประเมินภาษีด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องมีการแก้ไขต่อไป เพราะองค์กรภาคเอกชนที่รับทุนจาก สสส.นั้น ไม่ได้ทำเพื่อหากำไร แต่เป็นการทำงานแทน สสส. งบประมาณและผลงานทั้งหมดก็เป็นของ สสส. การรับงบประมาณมาต่างจากบริษัทที่รับงานรับเหมา หรือประมูลงาน เช่น บริษัทเอกชนรับเหมางานได้เงิน 3 ล้าน ก็จะมีการรวมกำไรอยู่ในนั้น แต่องค์กรเอกชนที่รับงาน สสส. โครงการ 3 ล้านเหมือนกัน จะต้องทำงานตามงบทั้งหมดและหากมีงบประมาณเหลือก็ต้องส่งคืน สสส. ใบเสร็จทุกใบที่ใช้เงินไปต้องแสดงต่อ สสส. ทั้งหมดว่าได้ทำงานตามวัตถุประสงค์ ส่วนคนทำงานนั้นก็ต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลอยู่แล้ว จึงต้องมีการคุยกันว่าจะแก้ไขในเรื่องดังกล่าวอย่างไร
นายวันชัย บุญประชา เลขานุการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า มองเรื่องคำสั่งปลดกรรมการ สสส. เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นเรื่องผิดปกติ เนื่องจากกฎหมายเองก็เปิดช่องในเรื่องรับทุนและการเป็นกรรมการ ซึ่งบอร์ด สสส. ก็มีมติให้แก้ระเบียบ 26 ฉบับแล้ว อีกอย่างกรรมการที่อยู่ในมูลนิธิที่รับทุน สสส. ก็ไม่สามารถเข้าร่วมพิจารณาโครงการได้ อีกทั้งกรรมการบางคนเพิ่งออกจากมูลนิธิที่เคยรับทุนจาก สสส.ตั้งแต่ปี 2551 เพิ่งเข้ามาเป็นกรรมการ สสส. ปี 2557 แต่กลับบอกว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งหมด จึงกลายเป็นการสงสัย ถ้าไม่มีเงื่อนงำอะไรก็ถือว่าเป็นสิ่งผิดพลาดในการคัดกรองข้อมูลของระบบราชการ เป็นข้อมูลเท็จ แต่เจตนาหรือเปล่านั้นไม่ทราบ ส่วนเบื้องลึกเบื้องหลังมีการตั้งข้อสังเกตว่ามาจากกลุ่มทุนที่เสียประโยชน์จากการทำงานของ สสส. นั้น ต่อจากนี้จะต้องดูกระบวนการสรรหากรรมการผู้ทรงฯ คนใหม่ ต้องเป็นระบบที่เปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม มีการรับสมัครอย่างกว้างขวางและมีกระบวนการคัดเลือกอย่างเป็นธรรม เพราะกังวลว่าจะมีการยัดไส้เอาคนของตัวเองเข้ามา
ส่วนกรณีที่ คตร. บอกว่า ปลดล็อกเรื่องการใช้งบประมาณวงเงิน 5 ล้านบาท ก็เป็นเพียงคำพูดที่ยังไม่ได้มีเอกสารยืนยัน ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถทำได้ และสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างที่พูดหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ แต่ตอนนี้มีเครือข่ายและโครงการทั่วประเทศได้รับผลกระทบดำเนินงานไม่ได้เพราะไม่ได้รับงบ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่