ศิริราชลงนามร่วม สธ. ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน พัฒนางานวิจัยดูแล “เท้าเบาหวาน” ส่งต่อกรมการแพทย์นำไปปรับใช้ทั่วประเทศ รมว.สธ. ชี้ ต้องปรับสรีระวิทยาและพฤติกรรมช่วยป้องกันได้ แนะโรงเรียนแพทย์เน้นการเรียนการสอนปรับพฤติกรรม จัดสภาพแวดล้อมป้องกันโรค
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช (SiRM) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “พัฒนาเครือข่ายการดูแลเท้าเบาหวานของไทย” เพื่อให้ผู้ป่วยเท้าเบาหวานทั่วประเทศได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานสากลอย่างเท่าเทียม โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยาน
นพ.ปิยะสกล กล่าวถึงนโยบายสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ว่า อัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคเบาหวานของคนไทยในปี 2557 พบว่า มีอัตราป่วยอยู่ที่ 1,081 ต่อแสนประชากร และอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 17.5 ต่อแสนประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยโรคเบาหวานถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย เพราะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและโรคต่าง ๆ ตามมา โดยปี 2558 พบว่า ก่อให้เกิดโรคไตสูงสุด 7.9% โรคตา 2.4% โรคหัวใจ 1% และโรคหลอดเลือดสมอง 0.6% ซึ่งแค่เฉพาะโรคไตเพียงอย่างเดียวก็ทำให้ประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาถึงปีละแสนล้านบาท สำหรับนโยบายของ สธ. จะเน้นการลงไปดูแลถึงระดับหมู่บ้านและครอบครัว โดยให้ความสำคัญในการป้องกันมากกว่าการรักษา ซึ่งการป้องกันโรคเบาหวานทำได้โดยการปรับใน 2 เรื่อง คือ ด้านสรีระวิทยา ได้แก่ ลดความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง และภาวะน้ำหนักตัวเกิน และด้านพฤติกรรม คือ ลดการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ มองว่ากลุ่มโรงเรียนแพทย์จะต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนไม่เพียงเฉพาะแต่เรื่องความเชี่ยวชาญในการรักษา แต่จะต้องเพิ่มการเรียนการสอนเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรม การจัดสภาพแวดล้อม เพื่อป้องกันก่อนการเป็นโรคด้วย
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ศิริราชให้ความสำคัญกับการทำวิจัย เพื่อให้ได้องค์ความรู้ในการดูแลรักษาป้องกัน อย่างเรื่องการดูแลเท้าเบาหวานก็จะทำให้รู้ว่าปัญหาเท้าเบาหวานเกิดจากอะไร จะป้องกันได้อย่างไร และหากจะนำองค์ความรู้ไปใช้ได้จริงนั้นก็ต้องมีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดนำไปใช้จริงในระดับประเทศ ซึ่งเป้าหมายของศิริราชนั้นจะขยายไปถึงระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก ซึ่งในปี 2012 รพ.ศิริราช ก็ได้รับให้เป็นโรงพยาบาลหลักในการดูแลเท้าเบาหวานจากสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ องค์การอนามัยโลก
นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ความร่วมมือในการดูแลเท้าผู้ป่วยเบาหวานในครั้งนี้ จะนำไปใช้จริงตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปทั่วประเทศ ซึ่งก่อนหน้านั้น ก็มีความร่วมมือกันมาก่อนแล้วในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนสำคัญ คือ เรื่องของภาวะไตเสื่อมและจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งทำในทั่วประเทศแล้วเช่นกัน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่