xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งศึกษา “โฮมิโอพาธีย์” ทางเลือกป้องกันโรคไข้เลือดออก ร่วมกองทัพพัฒนาทีมพ่นทำลายยุงลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เร่งศึกษา “โฮมิโอพาธีย์” ศาสตร์แพทย์ทางเลือกป้องกันไข้เลือดออก กำชับแล้วเสร็จใน 1 ปี กรมควบคุมโรค เร่งสร้างเครือข่ายป้องกันไข้เลือดออกในเมืองหลวงร่วมกองทัพ พัฒนาทีมพ่นสารเคมีฆ่ายุงลาย

นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงการใช้โฮมิโอพาธีย์ ซึ่งการแพทย์ทางเลือกจากประเทศเยอรมนีมาใช้ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ว่า ขณะนี้มีการศึกษาทดลองเรื่องนี้ในบางพื้นที่ เช่น ศรีสะเกษ เชียงใหม่ สิงห์บุรี พังงา เป็นต้น โดยใช้ยา Eupatorium perfoliatum หรือ Eup-per ที่สกัดจากสมุนไพรในต่างประเทศ นำมาผสมน้ำและเขย่าให้เด็กนักเรียนดื่ม เพื่อป้องกันไข้เลือดออก เชื่อว่า จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิต้านทานไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น และลดโอกาสป่วยไข้เลือดออก แต่ผลยังไม่สามารถพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามหลักวิชาการได้อย่างชัดเจน ต้องมีการออกแบบการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้ความสนใจ โดยมอบให้กรมฯ ร่วมกับกรมควบคุมโรค ทำการศึกษาวิจัยอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี จึงขอให้ประชาชนรอผลการศึกษาก่อน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโฮมิโอพาธีย์ แม้จะมีการนำยาโฮมิโอพาธีย์ไปใช้ป้องกันไข้เลือดออกในอินเดียและบราซิลแล้วก็ตาม

“วิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการป้องกันไข้เลือดออก จะต้องเน้นความร่วมมือของประชาชนและชุมชนในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งจะอยู่ในบริเวณบ้านเรือน ทำต่อเนื่องทุก 7 วัน และการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ซึ่งได้กำชับให้ทุกจังหวัดดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง และส่งทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วลงพ่นหมอกควันในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” นพ.สุริยะ กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กรมฯ ได้ร่วมกับหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในเมืองหลวง (Metro DengueNet) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทีมพ่นสารเคมีควบคุมโรคไข้เลือดออกในเขต กทม. เมื่อวันที่ 30 พ.ย. - 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มจำนวนทีมพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายให้เพียงพอ พร้อมรับมือต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ทันท่วงที

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปัจจุบัน พบว่า มีการระบาดเพิ่มจากปีที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่เดือนมกราคมต้นปีจนถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 117,013 ราย เสียชีวิต 113 ราย ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วย 16,625 ราย ขณะนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องระดมเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมมือกันในการรณรงค์และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย รวมถึงการกำจัดยุงตัวแก่ ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพฯ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งรัดให้มีการดำเนินการทุกด้านเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกเป็นไปอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“กรมฯ มีนโยบายสร้าง Metro DengueNet เพื่อประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ที่มีภารกิจในการพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดยุงลายในชุมชนที่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกองทัพบก โดยในครั้งนี้ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทีมพ่นสารเคมีควบคุมโรคไข้เลือดออกในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายควบคุมโรคไข้เลือดออก พัฒนาสมาชิกทีมพ่นสารเคมีเพิ่มขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรจากหน่วยงานที่มีต้องพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย ได้แก่ กองเวชศาสตร์ป้องกัน สังกัดกองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ  กองบำรุงรักษาราชอุทยาน สำนักพระราชวัง  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานเขตดอนเมือง รวม 60 คน การประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย การบรรยาย สาธิตการพ่นสารเคมีที่ถูกวิธีและการฝึกปฏิบัติในพื้นที่จริงในชุมชนเขตดอนเมือง ถือเป็นการเพิ่มจำนวนทีมพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายให้เพียงพอต่อการดำเนินงาน” นพ.โอภาส กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น