ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชตั้งวอร์รูมทุกอำเภอรับมือระบาดไข้เลือดออก หลังพบผู้ป่วยเพิ่ม 4 เท่าตัว ชี้ผ่านช่วงการระบาดหนักมาแล้ว แต่หากไม่เอาจริงห่วงปีหน้าผู้ป่วยเพิ่มสูง ยืนยัน “ปอ” ดาราดังไม่ได้ติดเชื้อที่ จ.บุรีรัมย์ ชี้ออกจากพื้นที่ไปนานกว่า 3 เดือน แนะวิธีป้องกันดีที่สุดคือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายพาหะแพร่เชื้อ ยันไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาโรค
วันนี้ (16 พ.ย.) ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 ถ.ราชสีมา-โชคชัย อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา (สคร.9) เปิดเผยว่า ปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้น 3-4 เท่าตัว ขณะนี้ถือว่าผ่านช่วงการระบาดของโรคดังกล่าวแล้ว (พ.ค.-มิ.ย.ของทุกปี) แต่ยังพบมีผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจากนี้ไปตัวเลขจะลดลงเรื่อยๆ แต่หากยังไม่มีการรณรงค์และป้องกันอย่างจริงจังโดยเฉพาะการกำจัดต้นตอแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายสาเหตุสำคัญของการเกิดโรค สถานการณ์การระบาดในปีหน้าจะน่าเป็นห่วงอย่างมากซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงถึงสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าว
ในส่วนของ จ.นครราชสีมา ที่พบผู้ป่วยและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในภาคอีสาน ได้สั่งการให้ทั้ง 32 อำเภอตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้เลือดออกระดับอำเภอ หรือวอร์รูม ขึ้นเพื่อดำเนินการรณรงค์ป้องกันและเฝ้าระวังโรคอย่างจริงจัง และเพื่อควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกในปี 2559 หากยังไม่มีมาตรการควบคุมที่มีคุณภาพในปีหน้าอาจจะมีการระบาดที่รุนแรงกว่าปี 2558 ได้ โดยในวันที่ 2 ธ.ค.นี้จะเรียกประชุมนายอำเภอทั้ง 32 อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเพื่อให้แผนการปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นพ.ธีรวัฒน์กล่าวยืนยันว่า นายทฤษฎี สหวงษ์ หรือปอ ดาราชื่อดังที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกนั้น ไม่ได้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์อย่างแน่นอน หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคพบว่าดาราชื่อดังไม่ได้อยู่ในพื้นที่เป็นเวลา 3 เดือนแล้ว ซึ่งระยะการฟักตัวของโรคไข้เลือดออกแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปพ่นควันเพื่อกำจัดยุงลายบริเวณบ้านพักที่ จ.บุรีรัมย์แล้ว
สำหรับข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตบริการสุขภาพที่ 9 (จ.บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 11 พ.ย. 2558 พบผู้ป่วยจำนวน 12,113 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วย 5,917 ราย มีผู้เสียชีวิต 10 ราย มีผู้ป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด จ.ชัยภูมิ พบผู้ป่วย 2,442 ราย มีผู้เสียชีวิต 2ราย จ.สุรินทร์ พบผู้ป่วย 2,266 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และ จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 1,488 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 10-14 ปี รองลงมาคืออายุ 5-9 ปี และผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตาม โรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนและยังไม่มียารักษาเฉพาะ จะเป็นการรักษาตามอาการ สามารถป้องกันได้ด้วยการป้องกันอย่าให้ถูกยุงกัด ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในครัวเรือน โดยอาการของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก คือ หลังจากถูกยุงมีเชื้อกัดประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย บางรายมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีเลือดกำเดาออก ผู้ป่วยมักมีอาการหลังจากไข้ลดลง โดยจะเริ่มซึมลง ตัวเย็น ชีพจรเบา หมดสติ หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้
โดยยุงตัวเมียเท่านั้นที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ส่วนใหญ่ยุงลายจะกัดคนในเวลากลางวัน เว้นแต่กลางวันไม่มีเหยื่อให้กิน ในที่ที่มีแสงไฟกลางคืนจะออกกินเลือดได้เช่นกัน ยุงตัวเมียมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 45-60 วัน ไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง 4-6 ครั้ง ตลอดช่วงที่มีชีวิตของยุงลายตัวเมียตัวหนึ่งจึงสามารถผลิตยุงลายรุ่นลูกได้ราว 500 ตัว