xs
xsm
sm
md
lg

วอน ปชช.ร่วมมือปิดล้อมกำจัดยุงลาย สกัดไข้เลือดออก หลังป่วยพุ่งกว่าปี 57

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค ขอ ปชช. ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ สธ. ปิดล้อม สกัดกำจัดยุงลาย ป้องกันการแพร่ระบาดไข้เลือดออก เผยสถิติ 8 เดือน ผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงลิ่วกว่าปี 57 ตลอดทั้งปี

วันนี้ (3 ก.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้การระบาดของโรคไข้เลือดออกยังคงมีอย่างต่อเนื่องทุกภูมิภาค จากข้อมูลระบบเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 30 ส.ค. 2558 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 59,432 ราย เสียชีวิต 45 ราย กลุมอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุ 15 - 24 ปี ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นในกลุ่มนักเรียน 45.8% จังหวัดที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุดในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. ระยอง 2. เพชรบุรี 3. อุทัยธานี 4. แพร่ 5. กระบี่ 6. ราชบุรี 7. แม่ฮ่องสอน 8. จันทบุรี 9. อุบลราชธานี 10. อ่างทอง ซึ่งจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของปีนี้เพียงแค่ 8 เดือน พบผู้ป่วยและเสียชีวิตมากกว่าปี 2557 ตลอดทั้งปี คือ 40,278 ราย เสียชีวิต 41 ราย

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ศูนย์โรคติดต่อนำโดยแมลง ภาคีเครือข่ายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ประเมินความหนาแน่นของลูกน้ำยุงลาย รวมทีมเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เข้าสืบสวนโรคสอบสวนโรคและควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว รวมถึงการติดตามกำกับของงานในวอร์รูมทุกสัปดาห์ เพื่อเร่งรัดแก้ปัญหาให้ทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ประชาชนทุกท่านต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัดให้มากที่สุดโดยเฉพาะยุงลายซึ่งกัดในเวลากลางวันเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อยุงลายกัดกินเลือดแล้ว มักจะไปเกาะพักตามมุมอับชื้นในบ้าน เช่นห้องน้ำ มุมห้องนอนที่มีเสื้อผ้าใส่แล้วแขวนอยู่ เป็นต้น หากจะกำจัดยุงลายตัวแก่ต้องฉีดสเปรย์ หรือใช้ไม้ไฟฟ้ช็อตยุงให้ถูกที่ รวมถึงต้องป้องกันตนเอง และคนในครอบครัวโดยการไม่ให้ยุงเกิด

หากมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าที่ทุกฝ่ายปิดล้อมกำจัดยุงลายตัวที่มีเชื้ออย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้ไปกัดและแพร่เชื้อให้คนอื่นด้วย ผู้ป่วยเองก็ต้องป้องกันไม่ให้โรคไปติดต่อคนรอบข้างคนอื่น ๆ ด้วยการนอนในมุ้งหรือทายากันยุง ทั้งขณะอยู่พักฟื้นที่บ้านหรือรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งโรคไข้เลือดออกนี้เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สำหรับอาการเฉพาะโรคไข้เลือดออกคือ ไข้สูง ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีเลือดกำเดา มีจุดแดงใต้ผิวหนังหลังป่วยในวันที่ 2 - 3 อาการเริ่มต้นโดยทั่วไปคล้ายไข้หวัด แต่ไข้จะสูงอย่างกะทันหัน และกินยาลดไข้เมื่อหมดฤทธิ์ยาก็กลับมาไข้ได้อีก และต่างจากไข้หวัดใหญ่คือมักไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ เว้นแต่จะเป็นทั้ง 2 โรคในเวลาเดียวกัน” อธิบดี คร. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น