xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันสิรินธรฯ ฟื้นฟูคนพิการโดยชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สถาบันสิรินธรฯ เดินหน้าฟื้นฟู “คนพิการ” โดยชุมชน เน้นพัฒนาศักยภาพบุคลากรในพื้นที่ พัฒนาทักษะเฉพาะด้าน นำร่องแล้ว 2 ตำบล หวังคนพิการช่วยเหลือตัวเอง กลับสู่สังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดี

นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2555 พบว่า ประเทศไทยมีคนพิการประมาณ 1.5 ล้านคน หรือร้อยละ 2.2 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งพบว่าคนพิการส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุมากกว่า 70 ปี และอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล ในปี 2555 ได้มีการสำรวจข้อมูลของคนพิการ พบว่า คนพิการส่วนใหญ่มีความยากลำบากในการดูแลตนเองในการดำรงชีวิตประจำวัน อาทิ การขับถ่าย การอาบน้ำการแต่งตัว การล้างหน้าแปรงฟัน และการกินอาหาร  มีคนพิการเพียงร้อยละ 28.6 ที่ใช้อุปกรณ์ หรืออวัยวะเทียม หรือเครื่องช่วยคนพิการ นอกจากนี้ยังพบว่าคนพิการ จำนวนร้อยละ 22.4 ไม่ได้รับการศึกษา และร้อยละ 60 ของคนพิการไม่มีงานทำ  จากข้อมูลดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาระบบบริการคนพิการอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตัวเอง กลับเข้าสู่สังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นพ.ภาสกร กล่าวว่า สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ ได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูคนพิการในชุมชน โดยชุมชนเพื่อชุมชน โดยการพัฒนาระบบบริหารจัดการ สร้างและขยายพื้นที่เครือข่ายการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนมีส่วนร่วม อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  มหาวิทยาลัยในพื้นที่  ผู้นำชุมชน  ประชาชนในชุมชน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝึกอบรมอาสาสมัครในพื้นที่  การอบรมเชิงปฏิบัติการ สัมมนา ประชุมวิชาการ เป็นต้น เพื่อให้คนพิการได้รับบริการฟื้นฟูอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพิ่มขีดความสามารถของคนพิการในการช่วยเหลือตนเอง ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนพิการในชุมชน ช่วยลดความยากจน และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข การศึกษา การทำงานเลี้ยงชีพ และเพิ่มโอกาสทางสังคม

“สถาบันสิรินธรฯ ดำเนินโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2553 โดยในปี 2553 - 2554 เน้นการเพิ่มศักยภาพบุคลากรในพื้นที่ ปี 2555 - 2557 เน้นพัฒนาทักษะเฉพาะด้านให้แก่บุคลากรที่ทำงานฟื้นฟูในพื้นที่ และในปี 2558 - 2560 มีชุมชนนำร่องที่ให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจนประสบผลสำเร็จ ได้แก่ ตำบลราษฎร์นิยม อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี  และมีแผนที่จะการดำเนินการในชุมชนอื่น ๆ ต่อไป ผลของการดำเนินโครงการทำให้เกิดการประสานความร่วมมือกันในรูปแบบเครือข่ายที่ชัดเจน มีการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ทุกหน่วยงานสามารถเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมทั้งรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ และสามารถหาแนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการที่เหมาะสมกับบริบทในชุมชนต่อไป” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น