รพ.วัฒโนสถ - รพ.กรุงเทพ เตรียมจัดงานเสวนาต้อนรับวันพ่อ “ไขปัญหาสุขภาพท่านชาย เพื่อคุณพ่อสุขภาพดี” ให้ความรู้หวังช่วยป้องกัน 5 โรคมะเร็งยอดฮิตในผู้ชาย
โรงพยาบาลวัฒโนสถ และโรงพยาบาลกรุงเทพ เตรียมจัดงานเสวนาเรื่อง “ไขปัญหา สุขภาพท่านชาย เพื่อคุณพ่อสุขภาพดี” เพื่อต้อนรับวันพ่อแห่งชาติในปี 2558 โดยจะมีทีมแพทย์ด้านโรคมะเร็ง และแพทย์ด้านโรคระบบทางเดินปัสสาวะเพศชายมาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับ 5 โรคมะเร็งยอมฮิตที่คุกคามชีวิตเพศชาย ประกอบด้วย มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ และมะเร็งศีรษะและลำคอ โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ ดังนี้ “ทำอย่างไร ห่างไกล มะเร็งปอด” โดย พญ.สิริมานะ รัตนปราการ และ พญ.พจนา จิตตวัฒนรัตน์
“ต่อมลูกหมากโต...ภัยเงียบของท่านชาย” โดย นพ.ดำรงพันธ์ วัฒนะโชติ “มะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจก่อน รู้ก่อน รักษาได้” โดย นพ.ศักดิ์พิศิษฏ์ นวสิริ, “เวิร์กชอป ออกกำลังกายอย่างไรให้พ่อยังฟิต” เป็นต้น พร้อมปรึกษาปัญหาสุขภาพกับทีมแพทย์ และบูธตรวจสุขภาพเบื้องต้น ตรวจวัดความดันโลหิต ประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็ง ประเมินหาความเสี่ยงต่อมลูกหมากโต โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2558 เวลา 08.00 - 12.00 น. ณ. ห้องประชุมชั้น 7R อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู (ตึก R) โรงพยาบาลกรุงเทพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โทร. 1719
โรคมะเร็งปอด ถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้ชายทั่วโลก สาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ โดยพบว่า 1 ใน 10 ของผู้สูบบุหรี่จะเป็นโรคมะเร็ง และ 1 ใน 6 คนที่สูบติดต่อกันมา จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นมะเร็งปอด และ 85% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเกิดจากสารมีพิษในบุหรี่ คือ “ทาร์” โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัดเป็นเวลานาน ซึ่งมักมีอาการนำ คือ ไอ บางครั้งอาจมีเลือดปนออกมา หายใจสั้นลง เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หายใจลำบาก เจ็บบริเวณทรวงอก น้ำหนักลดมากกว่าปกติ มีไข้เรื้อรัง อาจมีสาเหตุจากมะเร็งปอดได้ ในกรณีที่โรคลุกลาม นอกจากอาการที่ปอดเองแล้ว อาการจะขึ้นกับอวัยวะที่โรคลุกลามไปถึงซึ่งอาจเป็นอวัยวะข้างเคียง หรือบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายที่โรคกระจายไป เป็นต้น
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ถือเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปอด มักพบในเพศชายอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยล่าสุดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่เสียชีวิตในปี 2557 เท่ากับ 29,480 คน อัตราการเสียชีวิตของมะเร็งต่อมลูกหมากที่น้อยกว่า อาจเนื่องด้วยเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก มีการกระจายตัวช้ากว่า รวมทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากที่ทำให้วินิจฉัยมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยมักมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะมีเลือดปน ส่วนใหญ่ในระยะแรก ๆ มักไม่แสดงอาการ หรืออาจจะมีอาการคล้ายโรคต่อมลูกหมากโต รวมทั้งปัสสาวะ หรือน้ำอสุจิมีเลือดปน มะเร็งในระยะต้นสามารถตรวจพบได้เมื่อแพทย์ตรวจร่างกาย โดยแนะนำให้ตรวจในผู้ชายอายุประมาณ 45 - 50 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุน้อย
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ชายที่มีโอกาสเสี่ยงพบมากขึ้นเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป กลุ่มเสี่ยงสูง คือ บุคคลที่มีประวัติครอบครัวใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น บิดามารดา พี่น้อง หรือบุตร มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งชนิดนี้ประมาณ 2/3 ของประชากรปกติ แต่ในความจริงแล้วกลับพบว่า ประมาณ 80% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ใหม่ ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากปัจจัยในการดำรงชีวิตอาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ รับประทานอาหารมัน และเนื้อแดงมาก แต่รับประทานผักและผลไม้น้อย รับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง ออกกำลังกายน้อย และโรคอ้วน การสูบบุหรี่และดื่มสุราจัด อาจมีผลต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
โรคมะเร็งตับ สมัยก่อนจะได้ยินว่าหากกินเหล้ามาก ๆ จะเป็นตับแข็ง แล้วจะเป็นมะเร็งตับตามมา แต่ปัจจุบันคนไทยอาจดื่มเหล้าลดลง ทำให้คนที่เป็นโรคตับแข็งจากการดื่มเหล้าพบได้น้อยลงไปด้วย แต่หากกินอาหารที่มีส่วนผสมของเหล้า หรือแอลกอฮอล์ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้ตับทำงานหนักทุกวันจนเป็นตับแข็งและมะเร็งได้เช่นกัน แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ส่วนมากมักได้รับเชื้อจากคุณแม่ตั้งแต่คลอด หรืออาจติดจากสามี - ภรรยา หรือแฟน ส่วนจะมีอาการของโรคตับอักเสบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน บางคนแทบไม่มีอาการเป็นแล้วหายเอง และมีภูมิต้านทานในตัว แต่บางคนเป็นแล้วเชื้อไม่หายกลายเป็นชนิดเรื้อรัง หรือเป็นพาหะติดต่อผู้อื่นได้ พอตับอักเสบนานๆเข้า เป็น 10 - 20 ปี ก็ทำให้เซลล์ตับเป็นพังผืด เหี่ยวลง จนอาจกลายเป็นโรคตับแข็ง ซึ่งบางเซลล์ในล้าน ๆ เซลล์ อาจพัฒนาเป็นมะเร็งตับได้
โรคมะเร็งศีรษะและลำคอ แต่ละปีจะมีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นประมาณ 540,000 รายทั่วโลก และเสียชีวิตกว่า 271,000 รายต่อปี ส่วนใหญ่โรคนี้มีสาเหตุจาก เยื่อเมือกบุภายในของอวัยวะบริเวณศีรษะและลำคอ ได้แก่ ช่องปาก ซึ่งประกอบด้วย ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เนื้อเยื่อใต้ลิ้น และรอบๆลิ้น เหงือก ลิ้น และเพดานแข็ง คอหอยส่วนปาก ซึ่งประกอบด้วย โคนลิ้น ต่อมทอนซิล เพดานอ่อน และ ลิ้นไก่ โพรงหลังจมูก กล่องเสียง ต่อมไทรอยด์ เนื้อเยื่อรอบกล่องเสียง โพรงจมูก และ โพรงไซนัส และต่อมน้ำลายต่าง ๆ สาเหตุเกิดโรคมะเร็งศีรษะ และลำคอ สำหรับสาเหตุของเกิดโรคมะเร็งศีรษะ และลำคอ ยังไม่ทราบชัดเจน แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การขาดวิตามิน และเกลือแร่ การบริโภค หมาก ยาฉุน การมีแผลเรื้อรังในช่องปากจากโรคต่าง ๆ การติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่สำคัญ เช่น เชื้อไวรัส อีบีวี (EB virus) ไวรัสเอชพีวี (HPV viruses) และไวรัสเอชไอวี (HIV virus) นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุเสริมอื่น ๆ ได้แก่ ภาวะภูมิคุ้มกันความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งศีรษะและลำคอ การใช้ฟันปลอมที่ไม่พอดี ทำให้เกิดการเสียดสีกับเยื่อบุภายในปาก ก็อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองจนเป็นแผล ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดขึ้นเป็นประจำ ก็อาจจะทำให้เกิดมะเร็งได้ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม วิธีดูแลตัวเองเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งนั้นเริ่มต้นทำง่าย ๆ คือ การเลิกบุหรี่ และเลิกดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ให้ครบทุกหมู่อาหาร ในปริมาณเหมาะสม (ไม่ให้อ้วน หรือ ผอมจนเกินไป) ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว หมั่นตรวจเช็กร่างกายสม่ำเสมอ อย่าละเลยการตรวจสอบสังเกตอาการด้วยตัวเอง หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ช่วยตรวจเช็ก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะถ้าตรวจพบแต่เนิ่น ๆ จะได้รับรักษาได้อย่างทันท่วงที มีโอกาสรักษาโรคมะเร็งให้หายได้สูง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่