แอดมินหมอเพจ “เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล” ค้าน “ร่วมจ่ายบัตรทอง” ชี้ คนจนควักค่ารักษาแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ก็เดือดร้อนหนักแล้ว ชี้ปัจจุบันประชาชนก็ร่วมจ่ายโครงการนี้กันอยู่แล้วในรูปแบบของภาษี ลั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่หรือที่ต้องหางบมาให้เพียงพอเพื่อรักษาชีวิตประชาชน จี้จัดงบโดยเรียงลำดับความสำคัญของนโยบาย ถ้ากล้าก็ให้ประกาศมาเลยเรื่องไหนต้องมาก่อน
วานนี้ (25 ธ.ค.) ทางเพจเฟซบุ๊ก “เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล” ซึ่งแอดมินระบุว่ามีอาชีพเป็นแพทย์ ได้โพสต์บทความเกี่ยวกับการปฏิรูปบัตรทอง ที่จะให้ประชาชนร่วมจ่ายเงินด้วย ความว่า ... “บัตรเดียวทำประเทศถังแตก”
ยาวมากขอบคุณล่วงหน้าที่อ่านจบ วันสองวันนี้มีข่าวจาก รมต. สาธารณสุข กล่าวเกี่ยวกับโครงการบัตรทอง โดยในเนื้อข่าวมีความว่า “งบฯมาจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งแนวโน้มการใช้งบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 16-17% คิดเป็น 4.6% ของ GDP” และ “ประชารัฐจะต้องร่วมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าจะดำเนินการแบบไหน อย่างไร จะให้รัฐบาลรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวไม่ไหว ใครจะช่วยจ่ายระบบอย่างไรต้องมาหารือร่วมกัน”
เป็นอีกครั้งที่ต้องขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
#ขอคุยกันแบบผู้บริหาร
ในระดับภาพรวมของประเทศ สิ่งที่ผมคิดว่า คงไม่มีใครเถียงก็คือว่างบประมาณโครงการนี้มันต้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คนไข้อายุยืนยาวขึ้น คนไข้มากขึ้นเรื่อย ๆ ยารักษามากขึ้น (อาจจะลดได้ในบางอย่างแต่ภาพรวมก็น่าจะเพิ่มขึ้น)ค่าหยูกค่ายา เงินเดือนคนทำงานมากขึ้น งบมันก็ต้องเพิ่มขึ้น แน่นอน
คำถามสำคัญคงอยู่ที่ว่า โครงการนี้ คุ้มที่จะทำต่อไหม ? คำตอบก็คือ น่าจะคุ้มที่จะทำต่อ แม้จะมีคนจำนวนหนึ่งบอกว่า
ต้องปรับเปลี่ยน แต่ (ยัง) ไม่มีใครบอกว่า ยกเลิก ดังนั้นปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญเลยก็คือ เงินไม่พอ ...
จากปัญหานี้ผมตอบได้เต็มปากเต็มคำว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ปัญหาด้วยการ ร่วมจ่าย ณ ที่จุดบริการ ไม่ว่าจะเป็น 10, 20, หรือ 30%(คนไข้ผม จ่ายยา สามเดือน สามพันบาท จ่ายร่วม 10% = 300 จ่ายร่วม 20% = 600
จ่ายร่วม 30% = 900 แต่ ป้าจะมา รพ.ที ยังต้องรอ รถเมล์ฟรี มา รพ. หนึ่งวันรายได้หายไป 300 ยังคิดแล้วคิดอีก คนไข้ผม ขับวิน มอเตอร์ไซค์เกิดกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลันค่ารักษา 300,000 (อ่านว่า สามแสน) บาท
จ่ายร่วม 10% = 30,000 ..ไม่อยากคิดต่อเลย )
ในขณะเดียวกัน ผมเห็นด้วยกับการร่วมจ่ายในวิธีปฏิบัติที่ทำกันอยู่ ณ ปัจจุบัน นั่นก็คือใช้ภาษีที่ทุกคนร่วมกันจ่ายอยู่แล้ว ย้ำว่า ทุกคน ร่วมจ่ายอยู่แล้ว ทุกคนในประเทศไทย ร่วมกันจ่ายภาษีทั้งทางตรง และทางอ้อม ไม่ได้มีใครได้รับการยกเว้น ยากจนแค่ไหนก็ยังต้องจ่าย ทุกครั้งที่ซื้อสินค้าต่าง ๆ เงินจำนวนนี้แหละ ที่ผมถือว่าเป็นการ ร่วมจ่าย แล้วใครที่เข้าใจว่า มีแต่มนุษย์เงินเดือนหรือ ข้าราชการเท่านั้นที่จ่ายภาษี นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องครับ
และหากงบประมาณไม่พอ สำหรับโครงการนี้ผมถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ว่าจะหางบประมาณเพิ่มจากไหน หากผมเป็น รมต. สาธารณสุข ผมไม่ร้องเรียกให้ ประชาชนร่วมจ่าย แต่จะลุกขึ้นร้องต่อรัฐบาลว่าหน้าที่ที่จะใช้เงินอย่างคุ้มค่า หน้าที่ที่จะรักษาชีวิตประชาชน หน้าที่ที่จะดูแลคุณภาพชีวิตให้ประชาชนเป็นหน้าที่ของผม
ส่วนหน้าที่ของคุณ ผู้เป็นรัฐบาลก็คือหางบประมาณมาให้ผมใช้ ตราบใดที่ผมยังใช้มันได้อย่างสมเหตุสมผล งบไหน เรื่องใด สำคัญกว่ากัน คุ้มค่า คุ้มราคา ได้ประโยชน์มากกว่ากัน คุณต้องทำหน้าที่ชั่งตวงวัด หาก กล้าหาญ และกลัารับผิดชอบ ก็บอกออกมาเลยว่า เรื่องไหนมันสำคัญกว่ากัน งบประมาณไหน ที่รัฐบาลเห็นว่าสำคัญกว่าเรื่องนี้ก็บอกออกมา
“ขอคุยกันแบบประชาชนคนธรรมดาด้วยกัน” ในฐานะผู้ให้บริการ โครงการนี้ มักจะมีคนตั้งข้อสังเกตว่า
1. คนเราได้ของฟรี เจ็บป่วยนิดหน่อย ก็มาขอยา มาขอยาฟรี ๆ มาทีขนยาเป็นกระสอบ ได้ไปยังเอาไปทิ้งไปขว้างไม่กินอีก
- ความจริงก็คือ เจอเหมือนกันนะครับคนไข้ประเภทนี้ มาทีขอยานวดเพิ่ม หน่อยขอยาหยอดตาหน่อยนะหมอ แต่ส่วนตัวผมเจอน้อยมาก ๆ สัปดาห์หนึ่งเจอคนไข้ประมาณ 3-400 คน คนไข้แบบนี้น่าจะมีไม่ถึง 10 คน นับเพิ่มคนที่ป่วยอย่างอื่นแล้วขอยาแถมบ้าง ก็อีกสัก 10 คนก็แล้วกัน ส่วนที่เหลือนั้นเจ็บจริง ไม่มีการใช้สลิงแต่อย่างใด และส่วนใหญ่ที่ผมเจอก็คือ หนึ่ง คนไข้อดทนจนอาการทรุดแล้วจึงมาหาหมอ เพราะไม่ไหวแล้วจริง ๆ สอง คนไข้ซื้อยากินเอง หรือ ไปหาหมอคลินิกมาก่อน
แล้วถ้าไม่หายจริง ๆ จึงมา รพ. เหตุผลจริง ๆ อาจจะเป็นเพราะมันต้องรอนานแต่หลายคนก็บอกว่า เพราะเกรงใจหมอ ถ้าไม่จำเป็นพอดูแลตัวเองได้ พอจ่ายได้ก็ไปคลินิก แต่ไม่ไหวจริง ๆ เลยมาหาหมอ สาม คนไข้จะเก็บยาไว้ดีมาก เรียกว่าเก็บกินทุกเม็ด โดยปกติผมจ่ายให้เหลือเกินวันนัดไว้นิดหน่อย เวลาผ่านไป คนไข้มักจะเป็นคนบอกเองว่าคราวนี้ ตัวนี้หมอไม่ต้องให้นะ เพราะเหลือเยอะ คราวนี้ ยาตัวนี้ให้แค่.. ก็พอเสียดาย เก็บไว้ให้คนอื่นบ้าง
คำถามคือ คนจำนวนหนึ่งซึ่งน้อยมากจากประสบการณ์ของผม ทำให้เราถึงขึ้นต้องเปลี่ยนแปลงระบบเลยเหรอ ?
2. พวกไม่ดูแลตัวเอง กินเหล้า สูบบุหรี่ แล้วมาใช้ของฟรีแบบนี้ ถูกต้องที่ไหน ? ต้องเก็บเงินจากพวกนี้งดการใช้สิทธิ
หรือ โรคใด ๆ ที่เกิดจากรนหาที่เอง น่าจะระบุไปเลยว่า ห้ามใช้สิทธิ
- อันนี้เป็นแนวทางที่น่าสนใจแต่ทำยากมาก
ปัจจุบัน มีบางภาวะ/โรค ที่ เราให้คนไข้ออกค่าใช้จ่ายเองอยู่เหมือนกัน นั่นก็คือคนที่ไปฉีดยาเพิ่มขนาดอวัยวะเพศมา แล้วต้องการผ่าตัดแก้ไข เพราะเน่า หรือ ติดเชื้อหรืออะไรก็ตามทีี ... ต้องจ่ายเงินค่ารักษาค่าผ่าตัดเองทั้งหมด แต่ภาวะ อื่น ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกันที่จะบอกว่า อะไรคือ การรนหาที่เอง คนกินเหล้าทุกคน ไม่ได้ต้องเป็นตับแข็ง กินเหล้าแล้วตับอักเสบ
.. ต้องจ่ายเงินเองเลยไหม ?เขาสามารถแก้ตัวหยุดเหล้าแล้วกลับมาปกติได้นะ แ่ต่ระหว่างนี้ให้เขามาหาหมอแล้วต้องจ่ายค่ายา .. เขาอาจจะเลือกไม่มาดีกว่า ผลคือ .. เป็นมากขึ้น มากขึ้นหรือเปล่า ?
กินเหล้า แล้วตับแข็ง เขาสามารถดูแลตัวเอง กินยาสม่ำเสมอมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นะ แต่ถ้าเขาต้องมาเจอหมอ แล้วเสียค่ายา
บางคนอาจจะเลือก ทางอื่นเสียดีกว่า หรือต้องแค่ไหน กินกี่ครั้ง รักษากี่ครั้งมีสิทธิแก้ตัวได้กี่ครั้ง จึงจะหมดสิทธิในการใช้บัตรทอง หรือจะพิสูจน์ยังไงดีว่าคนไข้เลิกกินหรือยังไม่เลิกเหล้าถามกี่ครั้ง ก็บอกว่าเลิกแล้ว แต่ค่าตับไม่เคยดีขึ้นอย่างนี้ ก็ต้องจ่ายค่ายาเองหรือยังไง ? หมอสามารถวินิจฉัยได้ทุกครั้ง เหรอ ?ไม่จริงหรอก แล้วจะเอาอะไรมาตัดสิน
อันนี้คือโรคเดียว ยังมีโรคอื่นอีกที่น่าปวดหัวอีกมากมาย เบาหวาน เรื่องอาหารการกิน จะกำหนดยังไงเหรอ ? แบบไหนไม่ดูแลตัวเองแบบไหนดูแลตัวเองดีแล้ว อนุญาตให้ใช้สิทธิได้
3. บางคนไม่รู้สึกอะไร เพราะไม่เคยใช้ และ คิดว่าคงไม่มีทางต้องใช้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม
อยากบอกว่าผมมีคนไข้ไม่น้อยที่พอลูกออกจากราชการปุ๊ปพ่อแม่หมดสิทธิเบิกได้ก็รับภาระค่ายาไม่ไหว ต้องย้ายมารับยาด้วยสิทธิบัตรทอง ผมมีคนไข้ รักษามะเร็ง จ่ายเงินเองแล้วหมดไปหลายล้าน จนต้องมาใช้สิทธิบัตรทองในบั้นปลาย
กรณีที่เจอบ่อยมากก็คือ พ่อแม่บางคนไม่เคยป่วย ไม่เคยเจ็บ มาเจ็บที เข้า รพ.เอกชน สามวัน ค่าใช้จ่ายหมดไปสามแสน
ถ้าลูกพาย้าย รพ. ไม่ทัน คาดว่า จะถึงขั้นล้มละลาย
สิทธินี้เปรียบไปแล้ว เสมือนเป็น ประกันสุขภาพ อีกชั้นที่ รัฐมอบไว้ให้กับคนไทยทุกคน คุณไม่รู้หรอกว่า วันไหนที่คุณต้องใช้
แต่คุณต้องรู้ว่า มันสำคัญกับคุณ คุณจะมีเงินมีทอง ซื้อประกันเอง นั่นเป็นเรื่องดี นั่นเป็นประกันหนึ่งชั้นให้ตัวคุณเอง แต่นี่คือ ประกันอีกชั้นที่ผมในฐานะประชาชน เห็นว่าผมก็มีสิทธิพิทักษ์รักษาไว้ให้กับผมเอง ให้กับคุณ ให้กับทุกคน
สรุป ..สิ่งที่ผมในฐานะประชาชนจะทำ เมื่อรู้ว่า งบประมาณสำหรับโครงการนี้มีไม่พอ ก็คือ จะยืนขึ้นบอกรัฐบาลว่า ผมรู้ว่า ผมมีหน้าที่ต้องดูแลตัวเอง ผมก็จะพยายามทำหน้าที่ตัวเองให้ดี และจะช่วยตัวเองเท่าที่ สภาพตัวเอง เงื่อนไขชีวิต ของตัวเองจะทำได้ แต่หน้าที่ดูแลประชาชนก็ยังเป็นของท่าน เงินท่านไม่พอเหรอ เก็บภาษีผมเพิ่มขึ้นสิ ผมยินดีจะจ่ายเงินเพิ่ม
แต่ในข้อแม้ที่ต้องเป็นการจ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับการใช้จ่ายในนโยบายนี้นะ
ไม่ใช่สำหรับ ....
ไม่ใช่สำหรับ ....
ไม่ใช่สำหรับ ....
ด้วยความเคารพครับ