xs
xsm
sm
md
lg

แฉ!! บ.ยา โขกค่ายา “ตับอักเสบซี” เม็ดละ 3 หมื่น ยื่นสิทธิบัตรจ่อผูกขาด 20 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายเอดส์แฉบริษัทยา โขกค่ารักษายาไวรัสตับอักเสบซีเม็ดละ 3 หมื่น อ้างต้นทุนการผลิตจริงไม่ถึงเม็ดละ 100 บาท เผยยื่นจดสิทธิบัตรในไทยแล้ว หวั่น “พาณิชย์” อนุมัติ เกิดการผูกขาด 20 ปี ทำผู้ป่วยตับอักเสบซี 1.2 ล้านคนเข้าไม่ถึงยา จี้ “พาณิชย์” ถอนคำขอ ชง สธ. ทำ CL ยา เหตุ อภ.มีศักยภาพผลิตเองได้

วันนี้ (20 พ.ค.) เครือข่ายด้านเอดส์ ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชือ้เอชไอวี/เอดส์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิโอโซน มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ และชมรมเภสัชชนบท นำโดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้ยื่นหนังสือถึง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เพื่อขอให้แก้ปัญหาการเข้าถึงยารักษาไวรัสตับอักเสบซี หลังบริษัทยา “กิลิแอด” ยื่นคำขอสิทธิบัตรยา “โซฟอสบูเวียร์” ในประเทศไทย ทำให้ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีกว่า 1.2 ล้านคนเข้าไม่ถึงยาดังกล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวว่า แม้การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีจะมีสิทธิบัตรทองครอบคลุม แต่ก็มีเพียงแค่ยาฉีดเท่านั้น ซึ่งต้องฉีดเป็นเวลา 6 เดือน และมีผลข้างเคียงสูงมาก ซึ่งยาที่ดีที่สุด คือ ยากิน ซึ่งใช้ระยะเวลาในการกินเพียง 3 เดือน ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น ยาโซฟอสบูเวียร์ ของบริษัท กิลิแอด ซึ่งขณะนี้ราคาตกอยู่ที่เม็ดละ 30,000 บาท หากรักษาครบ 3 เดือนจะอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท โดยบริษัท กิลิแอด ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2551 และยื่นคำขอเพิ่มเติมรวม 6 คำขอ แต่จากการเข้าถึง หรือสืบค้นข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาโดยบุคคลทั่วไปกลับทำได้ยาก ทำให้ดำเนินการคัดค้านคำขอตามกฎหมายไม่ทัน และหาก ก.พาณิชย์ จดสิทธิบัตรยาดังกล่าวก็จะเกิดการผูกขาดยาเป็นเวลาถึง 20 ปี ทำให้คนไข้เข้าไม่ถึงยาตัวนี้ ทั้งที่หากผู้ป่วยได้รับยานี้จะทำให้โรคหายขาด แต่หากใช้ยาฉีดแล้วรอยากินไปเรื่อยๆ จนตับแข็งมากขึ้น สุดท้ายก็ไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นและเสี่ยงกลายเป็นมะเร็งตับ

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ดังนั้น จึงขอให้ ก.พาณิชย์ ต้องถอนคำขอทั้ง 6 คำขอ เพื่อที่จะไม่มีการจดสิทธิบัตรยาตัวนี้ในประเทศไทย ช่วยให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้เข้าถึงยาได้มากขึ้น หรือหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ขอเสนอให้ สธ. ใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ (CL) ซึ่งเป็นทางออกที่ดี โดยจากการหารือร่วมกับนักกฎหมายภาคเอกชนไทยและในหลายประเทศและดูข้อกำหมายแล้ว ระบุว่า สามารถทำได้ เพราะยาที่ยังไม่ได้รับสิทธิบัตร หากมีความจำเป็นคือ เกิดวิกฤต และเข้าไม่ถึงยาสามารถที่จะทำ CL ได้ เพราะกรณีนี้จะเกิดการผูกขาดยาเข้าข่ายคนไข้เข้าไม่ถึงยา โดยยาตัวนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตได้โดยนำเข้าวัตถุดิบจากจีน หรือ เกาหลีใต้ ราคาจะเหลือเม็ดละราว 71 บาทเท่านั้น

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ยาโซฟอสบูเวียร์ ของบริษัทกิลิแอดนั้น นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าต้นทุนการผลิตที่แท้จริงอาจมีราคาไม่ถึง 100 บาทต่อเม็ด ซึ่งในระดับสากลยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนว่าควรจะได้สิทธิบัตรในหลายประเทศหรือไม่ เช่น อินเดีย ยุโรป อียิปต์ โมร็อกโก ยูเครน รัสเซีย จีน อินโดนีเซีย เป็นต้น เพราะเทคโนโลยีการผลิตยาไม่เข้าหลักเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิบัตรในเรื่องความใหม่และขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้น

ด้าน นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เรื่องนี้คงยังไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อภ. และกระทรวงพาณิชย์ หารือกันก่อนและพิจารณาแนวทางที่สร้างความสมดุลและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนแนวทางที่เครือข่ายฯเสนอเรื่องการยกเลิกขึ้นทะเบียนนั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและแนวทางปฏิบัติทางกฎหมายอย่างละเอียด เพราะพบว่าบางประเทศก็ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเนื่องจากไม่ใช่ยาใหม่ แต่ต้องยึดขั้นตอนทางกฎหมายด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น