xs
xsm
sm
md
lg

ลอยกระทง ปลอดเหล้า ไม่เมาไม่เสี่ยง “โรคพิษสุราเรื้อรัง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...นพ.วิชิตพล ฟูสิริพงษ์ แพทย์ประจำศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลปิยะเวท

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือวันลอยกระทง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน โดยวันลอยกระทงถือเป็นประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ประเพณีต่าง ๆ จึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย คือ นอกเหนือจากการลอยกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคาแล้ว ก็มีเทศกาลรื่นเริง งานเฉลิมฉลอง และสิ่งที่ตามมา คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสังสรรค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นโทษต่อสุขภาพ และอาจนำมาซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคร้ายต่าง ๆ แบบที่ไม่ทันรู้ตัว

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ วิสกี้ บรั่นดี เป็นต้น แต่ละประเภทจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องดื่ม ซึ่งเครื่องดื่มในกลุ่มนี้จะส่งผลต่อร่างกายเหมือนกัน คือ ออกฤทธิ์กดประสาท และมีอาการเสพติดร่วมด้วย ถ้าดื่มในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ควบคุมตัวเองไม่ได้ ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนไป ในบางรายอาจทำให้แสดงอาการบางอย่างออกมา เช่น เอะอะโวยวาย ดุร้าย เกรี้ยวกราด พูดมาก หรือร้องไห้เสียใจแบบไม่มีสาเหตุ ร่วมกับอาการหน้าแดง ตัวแดง มือไม้สั่น หัวใจเต้นแรง ปัสสาวะบ่อย ความดันโลหิตสูง และหากดื่มต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะส่งผลให้เป็น โรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) ได้

“โรคพิษสุราเรื้อรัง” เป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ จนกระทั่งเกิดอาการทางประสาทและทางร่างกาย แอลกอฮอล์จะมีผลเสียต่อทุกเซลล์ในร่างกายโดยเฉพาะระบบประสาทและตับ หากได้รับแอลกอฮอล์เป็นประจำสมองจะปรับตัวและต้องการแอลกอฮอล์เพื่อการดำเนินชีวิตประจำวันแบบขาดไม่ได้

ในปัจจุบันยังไม่มีการแยกที่เด่นชัดระหว่างติดสุราและโรคพิษสุราเรื้อรัง แต่อาการเตือนว่าจะเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง คือ เมื่อหยุดสุราแล้วผู้ป่วยจะมีอาการ ไม่มีความสุข กระวนกระวาย คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก มือไม้สั่น หน้าบวมฉุ ผิวแดงคล้ำ และอาการดังกล่าวมักจะหายไปเมื่อได้ดื่มสุรา

วิธีการรักษาในปัจจุบันเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการลงแดงจากการหยุดสุรา แต่มีผลข้างเคียงไม่มาก เช่น มีอาการวุ่นวาย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการชักช่วงสั้น เมื่อมาพบแพทย์จะต้องตรวจหาโรคที่เกิดจากสุราก่อน เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจ เป็นต้น และจะต้องให้ผู้ป่วยคลายความกังวลใจด้วยการให้ยาคลายเครียดกลุ่ม Benzodiazepine และวิตามินบี หลังจากนั้นต้องสังเกตอาการอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และภายหลังจากสังเกตอาการ หากผู้ป่วยไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลง ก็สามารถกลับบ้านได้ โดยให้ยากลับไปรับประทานต่อเนื่องนาน 4 - 5 วัน แล้วจึงกลับมาพบแพทย์อีกครั้งเพื่อติดตามอาการ

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการลงแดงอย่างรุนแรงหลังจากหยุดการดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและรีบให้การรักษาอย่างรวดเร็ว โดยการให้ยากลุ่ม benzodiazepine ในผู้ป่วยที่มีอาการชัก สำหรับผู้ป่วยที่มีภาพหลอน และมีพฤติกรรมก้าวร้าว ควรต้องรับการรักษาโดยแพทย์ด้านจิตเวชต่อไป

ดังนั้น เทศกาลดี ๆ จึงอยากให้ทุกคนคิดดี ทำดี มาช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีไทยที่ดีแบบนี้ไว้ หลีกเลี่ยง ลด ละ เลิก จากเครื่องดื่มมึนเมา นอกจากจะไม่มีผลดีใด ๆ แล้ว ยังส่งผลเสียต่อร่างกายอีกมากมาย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น