xs
xsm
sm
md
lg

“หมอมอร์ตัน” ผู้คิดค้นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติฝังร่างกาย คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ (ซ้าย) เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต (ขวา)
ประกาศผลรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล “หมอมอร์ตัน” จากสหรัฐฯ รับรางวัลสาขาการแพทย์ ฐานะผู้ร่วมคิดค้นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังร่างกาย ช่วยลดอัตราตายจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ทั่วโลก ขณะที่ “เซอร์ไมเคิล” รับรางวัลการสาธารณสุข ผู้เสนอ 6 แนวทางแก้ไขปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต

วันนี้ (12 พ.ย.) ที่ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ รพ.ศิริราช   ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวผลการตัดสินผู้ได้รับรางวัลพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 24 ประจำปี 2558 ว่า ในปีนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลทั้งสิ้น 51 ราย จาก 19 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี 2556 - 2558 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ให้พิจารณาตัดสินขั้นสุดท้าย เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา

นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กล่าวว่า ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2558 มี 2 ท่าน คือ สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโฮเวอร์ด สหรัฐอเมริกา และสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต ผอ.สถาบันความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และอาจารย์ภาควิชาระบาดวิทยาและสาธารณสุข ยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยจะได้รับเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลจำนวน 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558 ในวันที่ 28 ม.ค. 2559 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาประสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยวันที่ 27 ม.ค. 2559 ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลจะมาแสดงปาฐกถาเกียรติยศในผลงานที่ได้รับที่ รพ.ศิริราชด้วย

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กล่าวว่า การพิจารณาผู้ที่ได้รับรางวัลนั้น ในส่วนของสาขาการแพทย์ ศ.นพ.มอร์ตัน มีผลงานในฐานะผู้ร่วมคิดค้นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกาย (AICD) ณ รพ.ไซนาย เมืองบัลติมอร์ สหรัฐฯ เมื่อปี 2512 ซึ่งเครื่องดังกล่าวสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้ โดยเครื่องดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่าเหรียญ 5 บาท 3 เท่า จะฝังไว้ใต้ผิวหนังโดยมีสายต่อเชื่อมไปยังหัวใจ ซึ่งเครื่องจะวิเคราะห์อ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ เมื่อไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจหยุดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เครื่องจะทำงานทันทีโดยช็อกให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดภายนอก ซึ่งอาจไม่มีอยู่ในบริเวณนั้น ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก

เครื่อง AICD มีการฝังเข้าตัวผู้ป่วยครั้งแรกในปี 2523 ต่อมาได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ในปี 2527 ปัจจุบันมีการฝังอุปกรณ์นี้ประมาณปีละ 2 แสนคน มีผู้ใช้อุปกรณ์นี้ทั่วโลกแล้วกว่า 2 - 3 ล้านคน สำหรับประเทศไทยได้นำเครื่องนี้เข้ามาใช้แล้วประมาณ 10 ปีแล้ว แต่ช่วงแรกนั้นราคาสูงมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ช่วง 5 - 6 ปีที่ผ่านมา ได้รับการบรรจุอยู่ในทุกสิทธิการรักษาทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยหลักการจะฝังให้ผู้ป่วยหลังรอดชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และมีการบีบตัวของหัวใจน้อยลงกว่า 30% ประมาณ 6 สัปดาห์ ซึ่งในประเทศไทยมีผู้รับการฝังเครื่องดังกล่าวประมาณปีละ 2,000 คน รวมแล้วกว่า 10,000 ราย ” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า สำหรับสาขาการสาธารณสุขนั้น เซอร์ไมเคิล มีผลงานสำคัญ คือ เสนอแนวทางการแก้ไขด้วยหลักปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อคุณภาพ (Social Determinants of Health) ซึ่งเป็นการประเมินปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ การป้องกันโรค และการสร้างเสริมพัฒนาศักยภาพของคนอย่างยั่งยืน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา รวมถึงคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน อาชีพ และรายได้ มีทั้งหมด 6 ด้าน คือ 1. เด็กทุกคนที่เกิดมาต้องมีต้นทุนชีวิตที่ดี  2. ทำให้เด็กทุกคน วัยหนุ่มสาว และผู้ใหญ่สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตน ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของการศึกษา 3. ให้ทุกคนได้รับการว่าจ้างทำงานที่ดี 4. ทุกคนต้องมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดี 5. ให้มีชุมชนพื้นที่เพื่อชีวิตที่มีคุณภาพ หรือสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตที่ดี  และ 6. ส่งเสริมระบบกิจกรรมป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งแนวทางดังกล่าวนั้นเริ่มใช้ในอังกฤษ ก่อนที่จะขยายไปยังทวีปยุโรป รวมถึงองค์การอนามัยโลก และประเทศไทยเองก็ยึดถือแนวทางนี้มาใช้ในทางสาธารณสุขของไทยด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น