xs
xsm
sm
md
lg

มีเซ็กซ์ไวทำหญิงไทยป่วยมะเร็งปากมดลูกอายุน้อยลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์เผยหญิงไทยป่วย “มะเร็งปากมดลูก” อายุน้อยลง เหตุมีเซ็กซ์ไว ระบุ คนเมืองน่าห่วงกว่าคนชนบท เหตุไร้ อสม. ช่วยกระตุ้นตรวจคัดกรอง

วันนี้ (9 พ.ย.) นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติ - นรีเวชวิทยา ด้านมะเร็งนรีเวช โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โรคมะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 8,000 - 10,000 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต ร้อยละ 50 หรือประมาณ 4 - 5 พันคนต่อปี สถานการณ์ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับบางประเทศในเอเชีย โดยอัตราส่วนของผู้ป่วยอยู่ที่ 16 ต่อ 1 แสนประชากร ลดลงจากเดิมที่อยู่ที่ประมาณ 30 ต่อ 1 แสนประชากร ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะพบผู้ป่วยน้อยลง โดยหากเป็นประเทศเจริญแล้ว เช่น ยุโรป จะไม่พบผู้ป่วยโรคดังกล่าวแล้ว สำหรับการตรวจคัดกรองส่วนใหญ่จะใช้วิธีแปปสเมียร์ มีความไวในการตรวจร้อยละ 50 ซึ่งอนาคตมีโอกาสในการใช้วิธีการหาเชื้อไวรัสโดยตรงด้วยวิธีการตรวจเซลล์ปากมดลูกแบบแผ่นบาง ซึ่งมีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 95 แต่หากใช้ 2 วิธีร่วมกันจะให้ผลแม่ยำถึงร้อยละ 99 โอกาสผิดพลาดอยู่ที่ 1 ใน 1,000 ประชากร อย่างไรก็ตาม การตรวจแบบใหม่ยังไม่เป็นที่นิยมเพราะราคาค่อนข้างสูง

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า อดีตประเทศไทยจะพบผู้ป่วยโรคนี้ในกลุ่มอายุ 40 - 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกอายุน้อยลง อยู่ที่อายุราว 30 ปี สาเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่เร็วขึ้น สำหรับเหตุผลที่ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เลือกทำโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกใน อ.ท่าวังผ่า อ.ปัว และ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เพราะเดิมมีเครือข่ายของ รพ.จุฬาภรณ์ มาตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับอยู่ที่พื้นที่บ้านหลวง จึงได้มีการประสานร่วมกัน และมาดำเนินการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยใช้วิธีการตรวจแบบใหม่ คือ การตรวจเซลล์ปากมดลูกแบบแผ่นบาง ซึ่งเบื้องต้นมีผู้ลงทะเบียนเข้ารับการตรวจจำนวน 800 คน

“ไม่สามารถบอกได้ว่าพื้นที่ห่างไกลจะมีปัญหามะเร็งปากมดลูกมากกว่าในชุมชนเมือง เพราะที่ผ่านมาเคยทำโครงการร่วมกับวชิรพยาบาลในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้กับผู้หญิงใน กทม. และปริมณฑล พบว่า มีสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง พบความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 7 และพบไวรัสสายพันธ์รุนแรง คือ 16 และ 52 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรง ดังนั้น จะต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบกับพื้นที่ชนบทด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้ว พื้นที่เมืองอาจน่าเป็นห่วงมากกว่าในชนบท เนื่องจากในเมืองไม่มี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คอยเคาะตามบ้านเพื่อกระตุ้นให้ไปตรวจคัดกรอง” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น