ตรวจมะเร็งปากมดลูกระดับชาติระยะ 2 หญิงไทยอายุ 30 - 60 ปี รับการตรวจคัดกรองแล้วถึง 7.6 ล้านคน ใน 5 ปี พบป่วยมะเร็ง 0.05%
นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัด ว่า สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้ร่วมกันจัดโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระดับชาติขึ้น ให้หญิงไทยอายุระหว่าง 30 - 60 ปี ทั่วประเทศ ด้วยวิธีการตรวจแปปสเมียร์ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกในปี 2548 - 2552 ตั้งเป้าตรวจคัดกรองในสตรีอายุ 35, 40, 45, 50, 55 และ 60 ปี ดำเนินการใน 75 จังหวัด มีจำนวนที่รับการตรวจคัดกรองทั้งสิ้น 3,124,855 ราย และระยะที่ 2 ปี 2553 - 2557 ตรวจคัดกรองตั้งแต่ช่วงอายุ 30 - 60 ปี โดยวิธีแปปสเมียร์และการตรวจ VIA ตั้งเป้าการตรวจไว้ที่ 9,577,840 ราย กำหนดให้คัดกรองได้ 1 ครั้งในรอบ 5 ปี ซึ่งจากการดำเนินการมีสตรีที่เข้ารับการคัดกรองทั้งสิ้น 8,498,985 ราย คิดเป็นร้อยละ 88.74 โดยเป็นสตรีในกลุ่มเป้าหมาย 7,637,266 ราย คิดเป็นร้อยละ 79.74 ในจำนวนนี้พบผลผิดปกติ 101,555 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.33 พบผู้ป่วยมะเร็ง 3,669 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.05 เป็นผู้มีเซลล์ผิดปกติมากและแพร่กระจายได้ง่าย จำนวน 30,761 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.04 และเซลล์ที่มีรูปร่างปกติและแพร่กระจายต่ำ 67,125 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.88
นพ.ชูชัย กล่าวว่า เมื่อดูความครอบคลุมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะรายใหม่ พบว่า อยู่ที่ 5,164,751 ราย คิดเป็นร้อยละ 53.9 โดยแต่ละปีกลุ่มเป้าหมายรายใหม่ที่เข้ารับการตรวจจะมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง จากปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 22.64 และในปี 2557 เหลือเพียงร้อยละ 3.78 ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการค้นหาและชักชวนสตรีรายใหม่เพื่อเข้ารับการคัดกรองจะทำได้ยากขึ้น ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น อายที่จะมาตรวจ คิดว่าไม่มีความเสี่ยง หรือไม่ทำงานทุกวันไม่มีเวลา นอกจากนี้ ในส่วนของสตรีที่มีผลการคัดกรองที่พบความผิดปกติ ยังได้มีการติดตามในส่วนของส่งตรวจและวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมรวมถึงการรักษา ซึ่งจากการติดตามพื้นที่ตัวอย่างทั้งที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ราชบุรี ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการตรวจคัดกรองจำนวนมาก โดยในปี 2556 จ.อุบลราชธานี มีสตรีที่รับการคัดกรองและพบผลผิดปกติ 245 ราย ในจำนวนนี้สามารถติดตามผลผิดปกติและรักษาต่อเนื่อง 160 ราย คิดเป็นร้อยละ 65.31 ขณะที่ จ.ราชบุรี มีสตรีที่รับการคัดกรองและพบผลผิดปกติ 232 ราย ในจำนวนนี้ติดตามผลผิดปกติและรักษาต่อเนื่อง 173 ราย คิดเป็นร้อยละ 74.57 และจากการสำรวจโดยแบบสอบถามที่ส่งไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ พบว่า แต่ละหน่วยงานตอบว่าได้ส่งผู้มีผลตรวจแปปสเมียร์ผิดปกติไปทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมหรือส่งไปรักษาทุกราย ส่งผลให้สตรีที่รับการตรวจคัดกรองและพบความผิดปกติเข้าถึงการรักษา
“ภาพรวมโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 ในช่วง 5 ปี มีผลดำเนินการที่ดีและครอบคลุมถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการสาธารณสุขที่ดีของประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังต้องรณรงค์และพัฒนาระบบการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ภาคประชาชน หน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำ และเร่งชี้แจงทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในป้องกันการลุกลามของมะเร็งปากมดลูกด้วยการคัดกรองความเสี่ยงที่ต้องรับการตรวจ 1 ครั้งใน 5 ปี ซึ่งจะช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกของสุขภาพสตรีไทยลงได้” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่