xs
xsm
sm
md
lg

ท้วงธุรกิจเหล้า บุหรี่ แก้ กม.ภาษีสรรพสามิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นักวิชาการ ท้วง ธุรกิจเหล้า บุหรี่ ขับเคลื่อนแก้ กม. ภาษีสรรพสามิต ละเมิดกรอบอนุสัญญาองค์การอนามัยโลกฯ ชี้ ไม่เหมาะสม ยอมธุรกิจร่างกฎหมายมาควบคุมธุรกิจ แต่ยันต้องแก้กฎหมายให้ทันสมัย สกัดหลีกเลี่ยงภาษีแบบ บ.บุหรี่ข้ามชาติ

วันนี้ (9 พ.ย.) รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงการปรับปรุงแก้ไขภาษีสรรพสามิต ว่า สินค้าบาป เช่น เหล้า และบุหรี่ ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับการควบคุมการบริโภคสินค้านี้ และชี้แนะว่า มาตรการทางภาษีเป็นมาตรการสำคัญที่สุดที่จะช่วยลดการบริโภคได้ การพิจารณาแก้ไขกฎหมายภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตระหนักและให้ความสำคัญอย่างมาก โดยต้องมองถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ การปฏิรูปกฎหมายภาษีบุหรี่จะต้องไม่ให้ตัวแทนธุรกิจยาสูบเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมาย หรือร่วมกำหนดนโยบายตามมาตรา 5.3 กรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (WHO FCTC)

“ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติต่าง ๆ โดยเฉพาะการป้องกันการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ บททั่วไปของกรอบอนุสัญญาฯ คือ จะต้องตระหนักถึงความพยายามต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมยาสูบที่จะทำลาย หรือล้มล้างความพยายามในการควบคุมยาสูบของรัฐ และจะต้องรู้ถึงกิจกรรมต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมยาสูบที่จะไปขัดขวางความพยายามในการควบคุมการบริโภคยาสูบ มาตรการต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในกรอบอนุสัญญานี้มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการแทรกแซงมิใช่เฉพาะจากอุตสาหกรรมยาสูบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงองค์การและผู้ที่ดูแลผลประโยชน์ให้อุตสาหกรรมยาสูบด้วย” รศ.ดร.สุชาดา กล่าว

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีจะต้องไม่เอื้อประโยชน์ต่อสินค้าที่ทำลายสุขภาพประชาชน การเสนอจัดทำประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตของกระทรวงการคลัง ซึ่งคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2558 เป็นเรื่องที่มีเหตุผลความจำเป็น เนื่องจากกฎหมายภาษีสรรพสามิตในปัจจุบันมีเนื้อหาล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับการค้า เศรษฐกิจ และสังคม ที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ปัญหาความโปร่งใส การใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น การหลีกเลี่ยงภาษีหรือสำแดงราคาสินค้านำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริง ดังกรณีที่อัยการสูงสุดเคยมีความเห็นสั่งฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด กับพวก คดีอาญาฐานหลีกเลี่ยงอากรนำเข้าบุหรี่เมื่อเดือนกันยายน 2556 ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 68,000 ล้านบาท

นายไพศาล กล่าวว่า ร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าเหล้าและบุหรี่ที่กระทรวงการคลังเสนอนั้น ยังมีเนื้อหาที่ขาดความสมบูรณ์อยู่หลายประการ เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง แต่ถูกผลักดันโดยกลุ่มธุรกิจ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจบุหรี่ ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายภาษีฉบับนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เท่ากับว่า ภาครัฐยินยอมให้ภาคธุรกิจร่างกฎหมายที่ใช้บังคับกับกลุ่มธุรกิจ เป็นปัญหาผลประโยชน์ขัดกันอย่างชัดเจน ตัวแทนของบริษัทบุหรี่ บริษัทเหล้าสามารถมีอิทธิพลในการร่างกฎหมายของภาครัฐได้ แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วก็ไม่เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจ อุตสาหกรรมเหล่านี้เข้ามาดำเนินการในลักษณะเช่นนี้  

นายไพศาล กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรตระหนักถึงความสำคัญ และพิจารณาทบทวนเนื้อหาร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และเปิดโอกาสให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรด้านสุขภาพร่วมให้ความคิดเห็นหรือข้อเสนอในกระบวนการร่างกฎหมายก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มิฉะนั้น จะก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น