xs
xsm
sm
md
lg

ค้านไทยเข้าร่วม ทีพีพี หวั่นบุหรี่นอกบุกไทย พ่วงยาแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการรุมค้านไทยเข้าร่วมสมาชิก “ทีพีพี” ชี้ บริษัทบุหรี่ข้ามชาติรุกคืบคุมตลาดไทย กม.ยาสูบ ส่อถูกทุบ พ่วงยาแพง ทำคนไทยเข้าไม่ถึงยา ค่าใช้จ่ายด้านยาพุ่ง กระทบพืชผลเกษตรเมล็ดพันธุ์

วันนี้ (13 ต.ค.) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และประธานรัฐภา ตีกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ องค์การอนามัยโลก แถลงข่าวเรื่อง ประเทศไทยควรเข้าเป็นสมาชิก ทีพีพี หรือไม่ ว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก หรือ ทีพีพี เกิดขึ้นจากบริษัทผู้ลงทุนและผู้แทนทางการค้าในสหรัฐอเมริกาได้ส่งตัวแทน 600 คน มาร่วมกันร่างข้อตกลงขึ้น ซึ่งมี 29 บท แต่เป็นเรื่องข้อตกลงทางการค้าเพียง 5 บทเท่านั้น องค์การอนามัยโลกยังบอกว่า ถือเป็นการไล่ใส่กุญแจมือรัฐบาล เพราะเวลาฟ้องร้องจะเป็นการฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งไทยจะต้องปฏิบัติตามข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (ISDS) ขณะนี้ได้มีการทำการวิจัยและส่งให้ทั้งเอกอัครราชทูตจีน นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อยับยั้งไม่ให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกในข้อตกลงดังกล่าว

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฏหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทีพีพีจะกระทบต่อนโยบายและกฎหมายควบคุมยาสูบของไทย แม้จะมีการอ้างว่าเรื่องยาสูบเป็นข้อยกเว้น แต่พบว่า หากมีข้อพิพาททางการค้า รัฐบาลจะต้องไปปฏิบัติตามข้อกำหนดข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน เช่น กฎหมายไทย มีข้อกำหนดควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการทำการตลาดด้านบุหรี่ หรือควบคุมฉลากต่าง ๆ แต่ข้อตกลงทีพีพีกลับมีข้อกำหนดเรื่องให้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม ว่าด้วยเรื่องรัฐวิสาหกิจ ซึ่งโรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจจะเป็นหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ และก่อให้เกิดการรุกคืบเข้ามาของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติมาคุมตลาดไทย จนกลไกการควบคุมและการป้องกันสุขภาพประชาชนไม่สามารถทำได้ และเมื่อเกิดข้อพิพาท จะขึ้นอยู่กับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งมีข้อร้องเรียนและวิจารณ์จากหลายประเทศว่าไม่เป็นกลาง ซึ่งหากไทยแพ้จะเสียค่าชดเชยจำนวนมหาศาล

ด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองภาคประชาชน กล่าวว่า ข้อตกลงทีพีพีจะกระทบต่อการเข้าถึงยาด้วย ในประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งได้มีการเรียกร้องให้ขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยา ทั้งให้ยกเลิกการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร ทำให้เกิดการผูกขาดข้อมูลของยาชีววัตถุ ซึ่งเป็นยาราคาแพง อาทิ ยามะเร็ง จาก 8 ปี เป็น 10 ปี หมายถึงยาใหม่ที่เป็นชื่อสามัญที่ไม่เคยขายในประเทศไทย ก็จะไม่สามารถมาขอขึ้นทะเบียนซ้ำได้ หากมียาอยู่ในตลาดก่อนหน้านั้น ซึ่งการปล่อยให้เกิดการผูกขาดเป็นเวลานานจะทำให้ยามีราคาแพงและประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้ และประเด็นขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยาออกไปจาก 20 ปี เพื่อชดเชยความล่าช้าของการขึ้นทะเบียนยา พร้อมทั้งยังกีดกันการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL) ในยาบางประเภท หากต้องการแก้ปัญหาสาธารณสุขฉุกเฉินของประเทศก็จะไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ในข้อตกลงทีพีพี ยังระบุว่าต้องให้จดสิทธิบัตร แนวทางการวินิจฉัยโรค และวิธีบำบัดโรคด้วยยาหรือการผ่าตัด ซึ่งขัดต่อกฎหมายไทย ที่เป็นสิ่งไม่ต้องจดสิทธิบัตร ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งจากการวิจัยผลกระทบจากการขยายสิทธิบัตร พบว่า ถ้ามีการผูกขาดข้อมูลยาเพียง 5 ปี พบว่า อีก 5 ปีต่อมาค่าใช้จ่ายด้านยาจะสูงขึ้น 81,356 ล้านต่อปี และหากคิดรวมยาชีววัตถุมารวมด้วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิธี กล่าวว่า ข้อตกลงทีพีพีครอบคลุมมาถึงสินค้าทางการเกษตร ซึ่งจะเกิดผลกระทบกับประเทศไทยในประเด็นของการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิต และการให้การยอมรับพันธุ์พืช ซึ่งประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช จะส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพโดยไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์การเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านจะกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การผูกขาดเมล็ดพันธุ์จะขยายจาก 12 ปี เป็น 20 ปี เมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงขึ้นตั้งแต่ 2 - 6 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย และยังเป็นการถูกบีบให้ยอมรับพืชจีเอ็มโอ และมาตรการปกป้องผู้บริโภคเกี่ยวกับฉลากอาหารดัดแปรพันธุกรรม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น