สธ. เตือนจัดงานบุญเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย ก่อโรค “ไข้หูดับ” รุนแรงถึงขั้นพิการ เสียชีวิต เผย 8 เดือน พบป่วย 307 ราย ตาย 15 ราย
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงฤดูหนาวหลายพื้นที่มีการจัดงานบุญ งานประเพณี และจัดเลี้ยงอาหาร ที่นิยมส่วนใหญ่เป็นประเภทปิ้งย่าง จิ้มจุ่ม ลาบ และยำต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งอาจปรุงแบบดิบ ๆ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคที่มากับอาหาร ที่พบได้บ่อย และมีอันตรายถึงพิการและเสียชีวิต คือ “โรคไข้หูดับ” ที่มีหมูเป็นพาหะ จึงได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เร่งให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่พบผู้ป่วย เพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 30 ต.ค. 2558 พบผู้ป่วย 307 คน เสียชีวิต 15 ราย มากกว่าปี 2557 ตลอดทั้งปี โดยพบมากสุดที่ จ.นครสวรรค์ 53 คน สำหรับผู้ที่เสี่ยงคือผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค ผู้เลี้ยง ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล หรือทางเยื่อบุตา และเข้าร่างกายจากการรับประทานเนื้อหมู เลือดหมูและเครื่องในหมูที่ปรุงแบบดิบ ๆ เช่น ลาบ หลู้ รวมทั้งอาหารประเภทปิ้งย่าง จิ้มจุ่มที่ยังไม่สุกเพียงพอ
ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เชื้อแบคทีเรีย “สเตร็บโตค็อกคัส ซูอิส” เป็นสาเหตุเกิดโรคไข้หูดับในคน โดยเชื้อจะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู บริเวณต่อมทอนซิล คอหอยและในโพรงจมูก นอกจากนี้ ยังพบเชื้ออยู่ในกระแสเลือดหากหมูมีอาการป่วย หลังจากเชื้อเข้าสู่รางกาย 3 - 5 วัน จะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ และมีอาการเฉพาะ คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้ ปวดศีรษะมาก คอแข็ง หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทหู จะทำให้การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน จนถึงขั้นหูหนวก ภายหลังหายป่วยแล้วอาจจะมีความผิดปกติในการทรงตัว หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตา จะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้ นอกจากนี้ หากติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงจะทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น หลังรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมูแล้วมีอาการดังที่กล่าวมา ขอให้รีบพบแพทย์ทันที โรคนี้รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
“การป้องกันการติดเชื้อไข้หูดับ มีดังนี้ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อหมู ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ หลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูที่จำหน่ายข้างทางหรือร้านของป่า ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ หรือเนื้อยุบ ให้ปรุงเนื้อหมูให้สุกด้วยความร้อน นานอย่างน้อย 10 นาที หรือต้มจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่รับประทานเนื้อและเลือดหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ผู้เลี้ยงหมู หรือทำงานที่ฟาร์มเลี้ยงหมู ควรสวมรองเท้าบูตยาง ถุงมือยาง และเสื้อผ้าที่รัดกุมระหว่างทำงาน หลังปฏิบัติงานเสร็จให้อาบนำชำระร่างกายให้สะอาด ผู้ที่มีบาดแผลที่มือหรือที่เท้าควรหลีกเลียงการสัมผัสหมู ไม่นำหมูที่ป่วยตายมาชำแหละ” นพ.อำนวย กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่