“หมอพิสนธิ์” จี้ อย. เพิกถอน - ปรับสูตร - เปลี่ยนข้อบ่งชี้ “ยาปฏิชีวนะ” ชี้หลายตัวอันตรายต้องเร่งแก้ เผย คนเมือง - กทม. ซื้อยาอมผสมยาปฏิชีวนะกินเสี่ยงเชื้อดื้อยา ต่างจังหวัดเจอรถเร่ขายยาแก้อักเสบรักษาสารพัด ทั้งที่เป็นยาปฏิชีวนะ เสี่ยงเจอยาเสื่อมสภาพเป็นพิษต่อไต แพ้ยาถึงขั้นตายได้
วันนี้ (28 มิ.ย.) ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะทำงานสร้างเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลภาคประชาชน (สยส.) กล่าวถึงกรณีข้อเรียกร้องเพิกถอนยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรียจำนวน 40 - 50 ตำรับ รวมกว่า 100 ทะเบียน ว่า อย. ทราบเรื่องเหล่านี้ดี ว่า ยาที่เสนอให้เพิกถอนนั้นมีปัญหา เพราะข้อมูลก็มาจาก อย. ส่วนที่ออกมาเรียกร้อง เพราะการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันของมนุษย์ของ อย. มีความล่าช้ามาก อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะให้เพิกถอนทั้งหมด แต่ยาบางตัวต้องปรับสูตรยา หรือเปลี่ยนข้อบ่งชี้
“ที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะยาหลายตัวเป็นอันตราย และการใช้ในแต่ละกลุ่มประชากรแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน อย่างพื้นที่ในเมือง ทั้ง กทม. และเมืองใหญ่ ๆ การเข้าถึงยาจะเป็นอีกรูปแบบการซื้อจากร้านขายยา หรือร้านยาในห้างสรรพสินค้า เป็นปัญหาเด่นชัดในกลุ่มนี้ คือ กลุ่มยาอมที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะที่วางจำหน่ายทั่วไป ส่วนกลุ่มพื้นที่ชนบท หรือตามต่างจังหวัด ปัญหาคือรถเร่ขายยา ร้านขายของชำ ซึ่งจะมีการขายยาปฏิชีวนะจำนวนมาก โดยเฉพาะยากลุ่มต้านการอักเสบ อย่าง เตตราไซคลีน (Tetracycline) ซึ่งระบุสรรพคุณลดการอักเสบ รักษาแผล ฝี หนอง การติดเชื้อต่าง ๆ รักษามดลูกอักเสบ ทั้งที่จริงรักษาไม่ได้ แต่เมื่อชาวบ้านได้ยินว่าเป็นยาแก้อักเสบ ก็จะเข้าใจว่ารักษาอาการอักเสบได้หมด จึงไปซื้อมากิน ทั้งที่เป็นยาปฏิชีวนะ หากกินบ่อย ๆ และไม่ถูกวิธีไม่เหมาะสมจะอันตรายมาก” ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว
ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวอีกว่า ชาวบ้านนิยมไปซื้อตามรถเร่ ร้านขายของชำ เนื่องจากสามารถซื้อได้ในปริมาณเล็กน้อย มีเงิน 5 บาท 10 บาท ร้านพวกนี้จะขายให้ ขณะที่ร้านขายยาจะไม่ขายให้เลย ทำให้เกิดการใช้ยาไม่เหมาะสมขึ้น ประกอบกับการเก็บรักษายาตามร้านขายของชำ หรือ รถเร่ แม้ยาจะยังไม่หมดอายุ แต่หากเก็บในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม มีความร้อนก็ทำให้ยาเสื่อมสภาพ ซึ่งกรณียากลุ่มแก้อักเสบ หากกินทั้งที่หมดอายุ หรือเสื่อมสภาพ จะเป็นพิษต่อไตอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ ยากลุ่มซัลฟาก็มีปัญหามาก แต่ก็ยังมีการใช้อยู่ ทั้งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งในบางคนอาจเกิดภูมิแพ้รุนแรงที่เรียกว่า กลุ่มอาการ สตีเวนส์ จอห์นสัน ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีอาการรุนแรง จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาของยาต่าง ๆ ยังมีอีกมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข โดยหลายตัวต้องเพิกถอน หรือปรับสูตรก่อนจะสายเกินไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่