xs
xsm
sm
md
lg

สุดเน่า! พบ “ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” กทม.ขึ้นสนิม หัวจ่ายสกปรก ตั้งใกล้น้ำเสีย อึ้ง! มีใบอนุญาตฯแค่ 8%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นักวิจัยเผย “ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” ใน กทม. มีใบอนุญาตฯ แค่ 8.24% พบติดตั้งใกล้ฝุ่น 76.3% ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย 28.3% ใกล้ที่ทิ้งขยะ 22% ส่งผลด้านความปลอดภัย ตู้ขึ้นสนิม 29% มีรูรั่วซึม ผุกร่อน หัวจ่ายน้ำไม่สะอาด แนะมาตรการป้องกัน

วันนี้ (2 พ.ย.) น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิจัยอิสระ นำเสนอผลการศึกษา “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” ในงานแถลงข่าว “ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ...ผู้บริโภคไว้ใจได้แค่ไหน” จัดโดยคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ว่า จากการสุ่มสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทำในพื้นที่ กทม. 18 เขต รวม 855 ตู้ พบว่า 1. มีการขออนุญาตการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,117 ราย มีใบอนุญาตฯ เพียงร้อยละ 8.24 เท่านั้น 2. สถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เหมาะสม คือ อยู่ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก ร้อยละ 76.3 เช่น ริมถนน ริมทางเท้า อยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย/น้ำขัง ร้อยละ 28.3 อยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะทำให้มีแมลงสาบ หนู แมลงวัน ร้อยละ 22 โดยตู้ที่ยกระดับให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร มีร้อยละ 52.3 มีจุดวางพักภาชนะบรรจุน้ำร้อยละ 88.9

น.ส.มลฤดี กล่าวว่า 3. การติดฉลากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่า แสดงรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำร้อยละ 6 แสดงข้อแนะนำในการใช้ตู้ร้อยละ 20 แสดงรายงานการเปลี่ยนไส้กรองร้อยละ 7 แสดงคำเตือน “ระวังอันตรายหากไม่ตรวจวัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ” ร้อยละ 26.1 แสดงเบอร์ติดต่อกรณีเครื่องมีปัญหาร้อยละ 50.5 4. ลักษณะทางกายภาพของตู้พบ เป็นสนิมร้อยละ 29.4 มีรูรั่วซึมร้อยละ 11.2 มีการผุกร่อนร้อยละ 21.1 หัวจ่ายน้ำไม่สะอาดร้อยละ 42.9 ตัวตู้ไม่สะอาดร้อยละ 55.2 5. แหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มมีการใช้น้ำประปาในการผลิตร้อยละ 93.8 ส่วนร้อยละ 6.2 ไม่มีการระบุ และ 6. การบำรุงรักษาและการทำความสะอาดตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพบว่ามีการล้างถังเก็บน้ำภายในตู้ทุกเดือนเพียงร้อยละ 43.3

“การแก้ปัญหานั้น ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตฯ และจัดสถานที่ให้เหมาะสมก่อนการติดตั้งตู้ โดยสำนักอนามัย กทม. ต้องติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด ถ้าพบว่าไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องเรียกเจ้าของตู้ให้มาดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่สามารถติดต่อได้รื้อถอนตู้ นอกจากนี้ เสนอให้ติดสติกเกอร์ทุกตู้ที่ได้ใบอนุญาตฯ ส่วน อย. ควรเก็บตัวอย่างน้ำตรวจวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัย หากน้ำที่ผลิตจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด เป็นต้น ขณะที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ต้องติดตามกำกับดูแลเครื่องผลิตน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม” น.ส.มลฤดี กล่าว

น.ส.มลฤดี กล่าวว่า ส่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องบังคับให้ผู้ประกอบที่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องขออนุญาตการติดฉลาก รวมถึงติดตามการติดฉลากและการระบุวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองแต่ละชนิด วันเดือนปีที่ตรวจสอบหัวจ่ายน้ำ ช่องรับน้ำ ช่องรับเหรียญ และรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ไมมีการติดฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น