xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาคับใจ ในวันที่ไร้ “หน้าอก” เมื่อต้องตัด “เต้านม” จากมะเร็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

“มะเร็งเต้านม” สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของหญิงไทย โดยในปี 2555 พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่มากถึง 54,000 ราย เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 14 คน การตัดเต้านมถือเป็นหนึ่งในวิธีรักษาโรคนี้ และมีไม่น้อยที่ตัดสินใจเฉือนเต้านมทิ้งเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็ง อย่าง “แองเจลินา โจลี” ที่พบว่าตนเองมียีน BRCA1 ในร่างกาย ซึ่งส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนปกติ
แองเจลินา โจลี
พญ.สุดารัตน์ ชัยเพียรเจริญกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า การรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธี การเลือกวิธีการรักษาจะพิจารณาทั้งลักษณะของมะเร็งและตัวผู้ป่วย ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยว่า หนทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยคืออะไร ทั้งนี้ หากเป็นการผ่าตัดรักษา จะมี 2 แบบ คือ การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม คือ ผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออก แบบนี้ยังสามารถรักษาเต้านมเอาไว้ได้ ส่วนอีกแบบคือ การผ่าตัดเต้านมทิ้งทั้งหมด ซึ่งหากตัดข้างเดียวก็ส่งผลให้ผู้ป่วยมีหน้าอก 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือหากตัดทั้งสองข้าง ก็เท่ากับผู้หญิงคนนั้นเป็นคนที่ไม่มีหน้าอกเลย ยอมรับว่าคนไข้หลายคนเมื่อตัดเต้านมออกไปแล้วก็เกิดความไม่มั่นใจ

เมื่อ “เต้านม” ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของผู้หญิงถูกตัดทิ้งไป พบว่า หลายรายเกิดปัญหาในชีวิตคู่ เพราะสามีรับไม่ได้ มีปัญหาเรื่องความสวยงามจากขนาดหน้าอกทั้งสองข้างที่ไม่เท่ากันหรือไม่มีหน้าอกเลย ส่งผลให้ไม่มีความมั่นใจในตนเอง

การแก้ปัญหาในปัจจุบัน พญ.สุดารัตน์ บอกว่า มีการผ่าตัดเสริมเต้านม ซึ่งมีทั้งการใช้ซิลิโคน รวมไปถึงเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตัวเอง มาช่วยเสริม อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่ค่อยนิยมในการทำเต้านมขึ้นใหม่ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุแล้ว จึงรู้สึกว่าไม่มีก็ได้ ไม่เหมือนกับต่างประเทศที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงหันมาทำเต้านมใหม่ ซึ่งการผ่าตัดเสริมเต้านมขึ้นมาใหม่ก็ช่วยให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจขึ้นมาก

นอกจากการผ่าตัดเสริมเต้านมแล้ว อีกหนทางหนึ่งคือการทำ “เต้านมเทียม” โดยใส่ไว้กับชุดชั้นในเพื่อทำให้ผู้หญิงดูมีหน้าอกขึ้นมา หรือทำให้เต้านมทั้งสองข้างมีขนาดเท่ากัน
จิตอาสาร่วมเย็บเต้านมเทียม
นายกฤษณ์ คุณหิรัญ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดสื่อสารองค์กร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปกติผู้หญิงที่ตัดเต้านมทิ้ง แล้วมีความกังวลในเรื่องของขนาดหน้าอก ก็จะมีการนำเมล็ดถั่วเขียว มาใส่ในเศษผ้าแล้วเย็บเป็นเต้านมใส่ไว้เพื่อให้อกทั้ง 2 ข้างมีขนาดเท่ากัน ซาบีน่าเห็นถึงความสำคัญของปัญหามะเร็งเต้านมที่ทำให้หญิงไทยเสียชีวิตจำนวนมาก ประกอบกับองค์กรมีจุดแข็งในเรื่องสิ่งทอ จึงนำเศษผ้ามาทำเป็นเต้านมเทียม โดยจัดเป็นโครงการ “เย็บเต้ารวมใจ สู้ภัยมะเร็ง” มาตั้งแต่ปี 2550 โดยเปิดโอกาสให้จิตอาสาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเย็บเต้านมเทียม และจะมีการส่งมอบเต้านมเทียมให้กับโรงพยาบาลและศูนย์มะเร็งต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เช่น รพ.จุฬาภรณ์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อแจกให้แก่ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเต้านม โดยปี 2558 นี้ ตั้งเป้าจะเย็บเต้านมเทียมให้ได้ 15,000 เต้า

การเย็บเต้านมเทียมจะมีทั้งหมด 4 ไซส์ แบ่งเป็น คัพเอ 32 นิ้ว คัพบี 34 นิ้ว คัพซี 36 นิ้ว และคัพดี 38 นิ้ว ซึ่งจากสถิติแต่ละปีที่มีการทำเต้านมเทียมและดูจากความต้องการของโรงพยาบาลนั้น พบว่า คนไทยอยู่ที่ประมาณคัพบี 34 นิ้ว ก็จะมีการเย็บเต้านมเทียมในไซส์ดังกล่าวมากกว่าไซส์อื่น ซึ่งการเปิดโอกาสให้จิตอาสาเข้ามาเย็บเต้านมเทียมจะมีการฝึกสอนในการทำก่อน และเมื่อทำเสร็จแล้วก็จะมีการตรวจคุณภาพของเต้านมเทียมว่าได้มาตรฐานหรือไม่
อุปกรณ์เย็บเต้านมเทียม
สำหรับวิธีในการเย็บเต้านมเทียมนั้น นายกฤษณ์ อธิบายว่า อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย ใยสังเคราะห์ขนาด B32 1 ชิ้น ขนาด B34-36 2 ชิ้น ถุงเต้านมเทียมสำเร็จ เม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ LLDPE เพื่อทดแทนเนื้อเต้านม ซึ่งจะมีน้ำหนักต่างกันไปในแต่ละคัพ โดยคัพเออยู่ที่ 100 กรัม คัพบี 120 กรัม คัพซี 130 กรัม และขนาดใหญ่มากคือคัพดี 160 กรัม สุดท้ายคือเข็มและด้าย โดยวิธีในการเย็บเต้านมเทียมนั้น
ฉีกใยสังเคราะห์ออกเป็น 2 แผ่น
1. นำใยสังเคราะห์มาฉีกออกเป็น 2 แผ่นในแนวเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ฟองน้ำมีความฟูขึ้น และช่วยรักษารูปทรง
วางใยสังเคราะห์ไขว้กันเป็นชั้นๆ
2. นำฟองน้ำมาวางเรียงไขว้กันเป็น 4 ชั้น
วางเม็ดพลาสติกลงบนใยสังเคราะห์
3. วางเม็ดพลากติกบนใยสังเคราะห์
รวบใยสังเคราะห์ขึ้นแล้วมัดเป็นรูปลูกประคบ
รวบใยสังเคราะห์ขึ้นแล้วมัดเป็นรูปลูกประคบ
4. รวบใยสังเคราะห์ทุกมุมให้อยู่ในลักษณะของการมัดในรูปแบบของลูกประคบ
นำห่อใยสังเคราะห์ใส่เข้าไปในถุงเต้าสำเร็จ
5. นำห่อใยสังเคราะห์ใส่เข้าไปในถุงเต้าสำเร็จ โดยใช้นิ้วโป้งดันด้านปลายของใยสังเคราะห์เข้าไปก่อน ให้อยู่ในส่วนที่แหลมที่สุดของถุงเต้าสำเร็จ และให้ส่วนที่เป็นฐานจองใยสังเคราะห์อยู่บริเวณฐานของถุงเต้า จากนั้นจับเต้านมเทียมแล้วตีบนฝ่ามืออีกด้านเบา ๆ เพื่อให้ฟองใยสังเคราะห์และเม็ดพลาสติกกระจายตัวไปรอบ ๆ เต้า 6. จัดรูปทรงให้สวยงามแล้วเย็บปิดปากเต้านมเทียมให้เรียบร้อย โดยเย็บแบบซ่อนตะเข็บผ้า เพื่อไม่ให้ตะเข็บสีกับแผลผ่าตัด เย็บห่างจากต้นผ้า 0.5 เซนติเมตร ระยะฝีเข็ม 0.5 เซนติเมตร ฝั่งละ 2 ฝีเข็มจากนั้นดึงขึ้น 1 ครั้ง เพราะการดึงเข็มขึ้นบ่อย ๆ จะทำให้ผ้ายืดและเสียรูปทรง โดยเฉลี่ยเต้านมเทียมจะใช้ได้ประมาณ 1 ปี

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น