จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ที่รับประทานอาหารเจในแต่ละปีนั้นมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ที่รับประทานเจหรืออีกกลุ่มคือผู้ที่บริโภคอาหารมังสวิรัติ คือไม่บริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ โดยอาจมีการบริโภคไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่ และ/หรือ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ขึ้นอยู่กับความเคร่งครัดของการรับประทานอาหารมังสวิรัติแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆได้แก่
1. มังสวิรัติชนิดเคร่งครัดหรือเจ (Vegan) หมายถึง ผู้ที่กินอาหารจากพืชล้วนๆ ไม่กินเนื้อสัตว์ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ทั้งหมด
2. มังสวิรัติชนิดที่กินนม (Lacto-vegetarians) หมายถึง ผู้ที่กินอาหารจากพืช และบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต ไอศกรีม
3. มังสวิรัติชนิดที่กินไข่ (Ovo-vegetarians) หมายถึง ผู้ที่กินอาหารจากพืช และไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่
4. มังสวิรัติชนิดที่กินนมและไข่ (Lacto-ovo-vegetarians) หมายถึง ผู้ที่กินอาหารจากพืช บริโภคนมและผลิตภัณฑ์นม ไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่
ประโยชน์ต่อสุขภาพจากการับประทานมังสวิรัติ
•ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว เนื่องจากอาหารจะมาจากพืช ซึ่งมีใยอาหารในปริมาณสูงทำให้อิ่มเร็ว พืชยังมีไขมันที่น้อยกว่าไขมันจากสัตว์จึงให้พลังงานที่น้อยกว่า
•ช่วยในการขับถ่าย การย่อยผัก ผลไม้จะง่าย และใช้เวลาในการย่อยน้อยกว่าเนื้อสัตว์ ใยอาหารจากพืชจะช่วยเร่งการขับถ่าย ใยอาหารมี 2 ประเภท คือกลุ่มไม่ละลายน้ำ ซึ่งจะไปเพิ่มจำนวนอุจจาระ ทำให้ไม่มีของเสียตกค้างในลำไส้ จึงช่วยป้องกันอาการอึดอัด ไม่สบายท้อง นอกจากนี้ยังช่วยลดการดูดซึมของเสียในลำไส้กลับเข้าไปสู่ร่างกายด้วย อีกกลุ่มคือใยอาหารที่ละลายน้ำได้ จะไปจับตัวกับน้ำดีและคอเลสเตอรอลในลำไส้แล้วขับออกมาทางอุจจาระ
•ช่วยให้ผิวพรรณสดใส เนื่องจากในผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ ล้วนมีสารอาหารในกลุ่มวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณสูง ซึ่งสารเหล่านี้จะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยขับอนุมูลอิสระในร่างกายออก ร่างกายก็จะแข็งแรง ผิวพรรณสดใส วิตามินซีที่มีอยู่ในผลไม้รสเปรี้ยวยังช่วยในการดูดซึมคอลลาเจนที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผิวหนัง
•ป้องกันโรคมะเร็ง ในพืชจะมีสารพฤกษเคมีอยู่มากมายหลายชนิด ที่ช่วยทำหน้าที่ในการป้องกันการเกิดเซลมะเร็งในร่างกาย มีหลายงานวิจัยที่ระบุว่าการรับประทานผักผลไม้จะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งโดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้
ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติในระยะยาวคือการขาดสารอาหารบางชนิด แนวโน้มของปัญหาทางโภชนาการที่เกิดขึ้นได้สำหรับผู้ที่บริโภคอาหารมังสวิรัติได้แก่ การขาดสารอาหาร ประเภทโปรตีน เหล็ก สังกะสี แคลเซียม วิตามินบี12 วิตามินดี วิตามินเอ ไอโอดีนและกรดไขมันโอเมก้า ซึ่งจะมีแหล่งที่มาจากเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่แล้ว ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้ผู้ที่บริโภคอาหารมังสวิรัติมีสุขภาพที่ดีได้คือ การแนะนำให้รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักของโภชนาการเพื่อให้ผู้ที่บริโภคอาหารมังสวิรัติสามารถปฏิบัติได้ รวมทั้งป้องกันปัญหาการขาดสารอาหารได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่