xs
xsm
sm
md
lg

วิธีสอนเรื่องการตัดสินใจให้กับลูกวัยรุ่น / ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจาก http://www.momypedia.com
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่เราต้องใช้ชีวิตในแต่ละวันอยู่กับการตัดสินใจแทบทั้งสิ้น ดังนั้น เรื่องของการตัดสินใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก วันนี้ผู้เขียนจึงขอเขียนเรื่องเทคนิคที่ดีในการสอนลูกเพื่อช่วยในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพื่อนร่วมงาน เรื่องการทำงาน เรื่องการเลือกที่เรียนหรือเรื่องการสอบ เป็นต้น ดังนี้

1. กำจัดตัวเลือกให้แคบลง ส่วนใหญ่การตัดสินใจที่ยาก ๆ มักมาจากตัวเลือกที่มากเกินไป และมักมีหัวข้อที่มีความคิดที่แตกต่างกันเกินไป ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ต้องแน่ใจว่าเราตัดสินใจถูกต้องหรือไม่ โดยการตั้งคำถาม และข้อดีข้อเสียของมัน ตัวอย่างเช่น เมื่อเราต้องตัดสินใจว่าเราจะเรียนต่อที่ไหนดี เราจะมีข้อมูลต่าง ๆ ที่เราต้องศึกษา เพื่อใช้ในการตัดสินใจ เราต้องสอนให้ลูกรู้จักตัวเลือกเหล่านั้น เช่น เรื่องรถโรงเรียน ระยะเวลาในการเดินทาง โรงเรียนนั้น ๆ มีความเชี่ยวชาญด้านใดเป็นพิเศษ ความยากง่ายของสถานศึกษาและปัจจัยเรื่องงบประมาณต่าง ๆ เป็นต้น

2. เขียนตัวเลือกทั้งหมดออกมา โดยใช้วิธีการระดมสมอง (Brain Storm) คือ เขียนตัวเลือกทุกอย่างออกมา โดยไม่มีอคติ เพื่อการมีตัวเลือกที่ชัดเจน หลากหลาย และเพื่อการตัดสินใจอย่างถูกต้อง

3. เลือกความสำคัญก่อนหลัง หลังจากที่เราระดมสมองและได้ตัวเลือกมากมายออกมาแล้ว สอนลูกให้รู้จักการเลือกความสำคัญก่อนหลัง ว่าอะไรเป็นความสำคัญลำดับแรกและเริ่มเรียงลำดับความสำคัญต่อมา

4. สอนลูกให้รู้จักแยกแยะว่าอะไรเป็นความคิดเพ้อฝันและอะไรตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง การตัดสินใจที่ดีต้องตั้งอยู่บนความเป็นจริง เราต้องเข้าใจว่าความคิดเพ้อฝันเป็นอย่างไร และสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงหรืออะไรเป็นความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเพ้อฝัน

5. ฝึกตัวเองก่อนการตัดสินใจ เช่นว่า ถ้าต้องตัดสินใจเลือกตัวเลือกนั้นแล้วเราจะเป็นอย่างไร ข้อนี้จะยากสำหรับลูกวัยรุ่นที่จะรู้ว่าตัวเลือกที่เขาเลือกนั้นถูกต้องหรือไม่ ดังนั้น การให้ลูกลองฝึกตัวเองก่อนการตัดสินใจจะช่วยได้ เช่น หากว่าต้องเลือกตัวเลือกนั้นจริง ๆ ลูกจะรู้สึกอย่างไร ลองสมมติตัวเองถ้าได้เลือกและใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือนหรือปีแล้วเราจะรู้สึกอย่างไร

6. ใครจะมีผลต่อตัวเลือกที่เราเลือกนั้นบ้าง ลองคิดทบทวนดูว่า หลังจากที่เราเลือกตัวเลือกนั้นแล้ว ใครบ้างจะได้รับผลกระทบของตัวเลือกนั้นบ้าง โดยทำความเข้าใจถึงเรื่องกฎของความสัมพันธ์ในการเลือกตัวเลือกต่อผู้อื่น เช่น เมื่อเราตัดสินใจว่าต่อไปนี้เราจะเป็นคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติผลกระทบข้อนี้จะส่งผลต่อใครบ้าง เช่น ต่อคุณพ่อคุณแม่ ต่อพี่น้องหรือต่อใครบ้างที่เราต้องรับประทานอาหารร่วมด้วย เป็นต้น

7. บอกให้ผู้อื่นรับทราบถึงการเลือกตัวเลือก ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง เพราะจะทำให้เรามีผู้ช่วยในการเลือกตัดสินใจ เพราะอาจมีผู้ อื่นที่ผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมาก่อนหรือมีผู้ที่มีความรู้ที่จะให้ความคิดเห็นต่าง ๆ ในมุมมองที่เราไม่เคยมองเห็นมาก่อนก็เป็นได้

8. ลองเอากลับไปคิดดูใหม่อีกครั้ง สิ่งที่สำคัญ อีกอย่างคือการให้เวลาในการตัดสินใจ ลองกลับไปคิดดูอีกสองสามวันอย่าเพึ่งรีบตัดสินใจอย่าเพิ่งปักใจเชื่อในสิ่งที่เรากำลังตัดสินใจนั้น ๆ ให้เราใช้เวลาคิดไตร่ตรอง ใคร่ครวญถึงเหตุผลต่าง ๆ อย่างถ้วนถี่ก่อนการตัดสินใจ

9. เชื่อในสัญชาตญาณ สิ่งที่เรียกว่าสัญชาตญาณเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะสอนกันได้ แต่เราสามารถเรียนรู้ได้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะตัดสินใจนั้นเป็นการตัดสินใจที่ดีและถูกต้องหรือไม่ โดยใช้สัญชาตญาณและความรู้สึกนึกคิดถึงผลกระทบที่จะตามมา

10. แบ่งข้อมูลออกเป็นส่วนย่อยๆเพื่อช่วยในการตัดสินใจ บางครั้งสิ่งที่สำคัญบางอย่างต้องใช้วิธีแบ่งการตัดสินใจออกมาเป็นส่วนย่อย ๆก่อนโดยยังไม่ต้องรีบตัดสินใจในสิ่งที่ใหญ่ เราต้องแบ่งข้อมูลในการตัดสินใจออกมาเป็นส่วนย่อยแล้วค่อย ๆ ตัดสินใจไปทีละเปลาะ จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้มากกว่าการตัดสินใจ ที่ใหญ่ครั้งเดียวไปเลย

การตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝน ฝึกแล้วฝึกอีกหลาย ๆครั้ง เพื่อให้แน่ใจและอย่างรอบคอบ ดังนั้น การสอนลูกตั้งแต่เล็กๆให้เลือกตัวเลือกที่ฉลาด โดยที่คุณพ่อคุณแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง จะทำให้เมื่อเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จะสามารถเลือกสิ่งที่ดีและถูกต้องในชีวิตได้ต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น