xs
xsm
sm
md
lg

เปิดระยะเวลา “นอน” เหมาะสม แต่ละช่วงวัย แนะ 9 วิธีช่วยหลับง่าย ชี้นอนไม่พอเสี่ยงโรคหัวใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. เผยนอนหลับไม่พอ เสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ระบุมูลนิธินอนหลับแนะระยะเวลานอนที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย ผู้ใหญ่ 7 - 9 ชั่วโมง ยิ่งอายุน้อยยิ่งต้องนอนมาก วัยเรียนนอน 9 - 11 ชั่วโมง ด้านอธิบดีกรมอนามัยแนะ 9 วิธี ช่วยนอนหลับง่าย
ภาพจาก : http://tvnmeteo.tvn24.pl
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะดีต่อสุขภาพกายและใจ แต่หากนอนหลับไม่เพียงพอจะก่อให้เกิดโรคภัยตามมาได้ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่งผลกระทบระบบประสาท การคิด และความจำ รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ หรือขณะทำงานที่อันตราย และการสูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งนี้ มูลนิธิการนอนหลับ (National Sleep Foundation) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศคำแนะนำระยะเวลาการนอนหลับเมื่อต้นปี 2558 หลังผ่านกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ กายวิภาคศาสตร์ สรีระวิทยา ผู้เชี่ยวชาญสาขากุมาร สตรี ผู้สูงอายุ และระบบประสาท มีคำแนะนำว่า วัยแรกคลอด - 3 เดือน ควรนอน 14 - 17 ชั่วโมง วัยทารก 4 เดือน - 1 ปี ควรนอน 12 - 15 ชั่วโมง วัยเตาะแตะ 1 - 2 ปี ควรนอน 11 - 14 ชั่วโมง วัยก่อนเข้าเรียน 3 - 5 ปี ควรนอน 10 - 13 ชั่วโมง วัยเข้าโรงเรียน 6 - 13 ปี ควรนอน 9 - 11 ชั่วโมง วัยรุ่น 14 - 17 ปี ควรนอน 8 - 10 ชั่วโมง วัยผู้ใหญ่ตอนต้น 18 - 25 ปี ควรนอน 7 - 9 ชั่วโมง และวัยผู้ใหญ่ 26 - 64 ปี ควรนอน 7 - 9 ชั่วโมง

“สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทยนอนหลับเฉลี่ยคืนละ 8.26 ชั่วโมง ในปี 2556 และเพิ่มขึ้นเป็นคืนละ 9.01 ชั่วโมง ในปี 2557 แม้ว่าคนไทยจะมีการนอนหลับที่ตรงตามคำแนะนำ แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับภาวะการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับยาก โดยมีสาเหตุตั้งแต่ระบบสั่งการการนอนหลับในสมองมีความผิดปกติ (Circadian Rhythm Sleep Disorder) หรือการมีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคกรดไหลย้อน โรคซึมเศร้า โรคภูมิแพ้ หรือแม้กระทั่งลักษณะการทำงานที่เป็นกะกลางวัน/กลางคืน เป็นต้น จึงจำเป็นต้องฝึกปฏิบัติเพื่อให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา” รมว.สธ. กล่าว

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า คนที่หลับยากสามารถใช้เทคนิคต่าง ๆ ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น คือ 1. ออกกำลังกายช่วงเย็น 30 นาที หรือ 4 - 6 ชั่วโมงก่อนนอน 2. กินกล้วยหอม เพราะผิวของกล้วยหอมมีฤทธิ์เหมือนยานอนหลับ และมีอะมิโนแอซิดที่เรียกว่า ทริปโตฟาน ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสารเซโรโทนิน ช่วยคลายเครียด กังวล ทำให้หลับสบาย 3. หลีกเลี่ยงอาหารหนักและอาหารรสจัดก่อนนอน เพราะร่างกายต้องใช้เวลา 2 - 3 ชั่วโมงในการย่อยอาหาร 4. หลีกเลี่ยงกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่กระตุ้นประสาท 4 - 6 ชั่วโมงก่อนนอน 5. ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจก่อนนอน ด้วยการอาบน้ำอุ่น เดินเบา ๆ ไปมา หรือการนั่งสมาธิ ไม่ควรทำกิจกรรมที่กระตุ้นร่างกายและสมอง 6. จัดระเบียบห้องนอนและกำจัดสิ่งรบกวน ด้วยการปิดไฟและอุปกรณ์ต่าง ๆ 7. เลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้หลับยาก ตื่นบ่อย และฝันร้าย จากผลของสารนิโคติน 8. เข้านอนให้เป็นเวลา ไม่ควรนอนดึกมาก และปฏิบัติให้เป็นประจำ และ 9. เข้านอนเมื่อร่างกายพร้อมที่จะนอน คือเมื่อรู้สึกง่วง และไม่ได้อยู่ในภาวะตึงเครียด อย่าพยายามฝืนนอน หากไม่ง่วง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น