xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะ "โฟโม" หวั่นตกกระแส แชร์ไม่คิด เสี่ยงละเมิดสิทธิ ผุดไกด์ไลน์คุม "วงการหมอ" ใช้โซเชียล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนไทยหวั่นตกข่าว-ตกกระแส เกิดภาวะ "โฟโม" แชร์ไม่คิด เสี่ยงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สิทธิผู้ป่วย สช.เล็งทำไกด์ไลน์คุมการใช้ "โซเชียลมีเดีย" ของวงการแพทย์ อะไรทำได้-ทำไม่ได้ คาด 2-3 เดือนแล้วเสร็จ ก่อนทำประชาพิจารณ์เสนอทุกสภาวิชาชีพ พร้อมเตือนประชาชนคิดก่อนแชร์ ด้านเจ้าพ่อไอทีแนะรีพอร์ตโพสต์ไม่เหมาะสม ละเมิดสิทธิ อย่ากดไลก์-คอมเมนต์ ยิ่งส่งเสริมให้โพสต์กระจาย

วันนี้ (29 ก.ย.) ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวในเวที สช.เจาะประเด็นครั้งที่ 5/2558 เรื่อง "ระวัง! แชต แชร์ ทวิต ละเมิดสิทธิสุขภาพ" ว่า การใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียของคนไทยในขณะนี้ เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "โฟโม (FOMO)" ย่อมาจาก Fear Of Missing Out คือการกลัวการตกกระแส ตกเทรนด์ ตกข่าวต่างๆ หากไม่ทราบเรื่องนี้จะถือว่าเชย ทำให้เกิดการรับและส่งต่อข้อมูลอย่างรวดเร็ว จนมีการกรองข้อมูลน้อยลง ทำให้อาจเกิดการละเมิดบุคคลอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งโดยที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะข้อมูลสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่ามีการส่งต่อหรือแชร์ออกไปทางโซเชียลมีเดียจำนวนมาก อาจเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยตามมาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ระบุว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยและทำความเสียหายให้บุคคลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นโดยตรง ซึ่งผู้ละเมิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พฤติกรรมเสี่ยงในการละเมิดสิทธิข้อมูลด้านสุขภาพนั้น ส่วนสำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเป็นผู้ดูแลข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย ถือเป็นเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณอยู่แล้ว แต่บางครั้งจะเห็นว่ามีบางกรณีเกิดขึ้นที่กลายเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย เช่น การถ่ายภาพเซลฟีของแพทย์ในห้องผ่าตัดโดยเห็นหน้าผู้ป่วย เป็นต้น สำหรับประชาชนมักพบกรณีการแชร์ภาพและข้อมูล เช่น การขอรับบริจาคเลือดโดยมีการระบุชื่อผู้ป่วยชัดเจน ซึ่งไม่ทราบได้เลยว่ามีการขออนุญาตผู้ป่วยแล้วหรือไม่ การส่งต่อเพราะความสงสารอยากช่วยเหลือก็อาจเป็นร่วมกระทำความผิดละเมิดสิทธิผู้ป่วยเช่นกัน และยังนำไปสู่การสืบต่อว่าผู้ป่วยคนนี้ป่วยเป็นโรคอะไรจึงจำเป็นต้องขอรับบริจาคเลือดด้วย นอกจากนี้ ยังต้องระวังเรื่องการเซลฟีในโรงพยาบาล เพราะอาจไปติดผู้ป่วยคนอื่นได้ การถ่ายรูปเพื่อนขณะทำการรักษา เช่น กรณีดาราสาวแตงโม รวมไปถึงการถ่ายรูปเหยื่อภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุ เช่น กรณีระเบิดที่แยกราชประสงค์

"การเซลฟีของแพทย์ในโรงพยาบาลไม่ว่าจะมีหรือไม่มีคนไข้ ยังไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน ซึ่งถามว่าแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์มีสิทธิถ่ายหรือไม่ก็ถือว่ามี แต่ต้องอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ ความเหมาะสม และบริบทในขณะนั้นด้วย ซึ่งต้องดูเป็นกรณีๆ ไปว่าเหมาะสมหรือไม่ อย่างบางคนถ่ายเซลฟีเพื่อโปรโมตให้เห็นว่าทำงาน บางคนบ่นคนไข้ หรือการถ่ายรูปกับคนไข้เด็กเพราะเห็นว่าน่ารัก แม้พ่อแม่เด็กจะไม่ได้ว่าอะไร แต่เมื่อนำไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์ แม้ไม่ได้บอกว่าเด็กป่วย แต่หากเกิดประเด็นดรามาขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบ" นพ.นวนรรน กล่าว

นพ.นวนรรน กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้รับมอบหมายจาก สช.ในการทำไกด์ไลน์การใช้โซเชียลของบุคลากรทางการแพทย์ขึ้นมา เพื่อเป็นมาตรฐานและบรรทัดฐานว่ากรณีใดทำได้หรือไม่ควรทำ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าง โดยอาศัยการรวบรวมข้อมูลจากต่างประเทศว่ามีแนวทางอย่างไรบ้าง แล้วปรับให้เหมาะสมกับบริบทและปัญหาของสังคมไทย คาดว่าประมาณ 2-3 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ จากนั้นจะมีการเปิดประชาพิจารณ์จากทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากผ่านการประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว สช.ก็จะเสนอไกด์ไลน์ตัวนี้ต่อสภาวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทยสภา สภาการพยาบาล เป็นต้น เพื่อนำไปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละวิชาชีพต่อไป

นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรชื่อดังด้านไอที กล่าวว่า การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนไทยนั้นเปลี่ยนไป จากสื่อกระแสหลักมาอยู่ที่สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น จากข้อมูลของเฟซบุ๊กจะพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 34 ล้านคน ถือเป็นอันดับ 9 ของโลก แต่ กทม.ถือเป็นเมืองอันดับ 1 ที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดถึง 18 ล้านคน อัตราการใช้เฉลี่ยคนละ 2.5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งสูงกว่าการดูโทรทัศน์แล้ว ทั้งนี้ เฟซบุ๊กมีการคัดเลือกคุณภาพของเนื้อหาที่จะปรากฏในหน้าฟีด โดยพิจารณาจาก IPCTR คือ Interest ความน่าสนใจของโพสต์นั้น Post ประสิทธิภาพการทำงานของโพสต์นี้ในหมู่ผู้ใช้อื่นๆ เช่น มีการไลก์มาก คอมเมนต์มาก บ่งบอกถึงความนิยมของโพสต์ก็จะได้รับการโปรโมตให้เห็น Creator เครดิตของผู้โพสต์เป็นอย่างไร Type ชนิดของคอนเทนต์ที่โพสต์ ซึ่งปัจจุบันวีดิโอได้รับความนิยมมากที่สุด และ Recency คือความสดใหม่ของโพสต์นั้น ดังนั้น เมื่อเจอโพสต์ที่ไม่เหมาะสม ละเมิดสิทธิผู้ป่วย ขอให้กดรายงาน (Report) เพื่อให้เฟซบุ๊กลบเนื้อหานั้นออกไป เพราะยิ่งมีการเข้าไปกดไลก์ หรือแชร์ต่อก็จะยิ่งทำให้คนเห็นมากยิ่งขึ้น อย่างกรณีเหตุระเบิดแยกราชประสงค์ที่มีการส่งต่อภาพคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็มีการประณามการกระทำดังกล่าว ทำให้เกิดการหยุดการส่งต่อภาพลักษณะดังกล่าวไปได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิผู้ป่วย นพ.อำพล กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องช่วยกันเริ่มจากตัวเองก่อนว่า หากเราเป็นคนไข้ก็ย่อมไม่อยากให้คนอื่นนำข้อมูลส่วนตัวของตนไปเผยแพร่ นั่นคือ ก่อนส่งภาพต่อหรือข้อมูลใดๆ ควรระลึกถึงคุณค่า สักดิ์ศรีความเป้นมนุษย์และสิทธิส่วนบุคคลเสมอ สำหรับมาตรา 7 แม้จะมีบทลงโทษ แต่ไม่อยากให้นำมาซึ่งประเด็นการฟ้องร้อง แต่อยากให้เป็นการเรียนรู้ของสังคม เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญคอยบอกคอยเตือน ซึ่งจะเป็นการยกระดับบรรทัดฐาน นอกจากนี้ ระดับองค์กรก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องการใช้โซเชียลไม่ให้ละเมิดสิทธิผู้ป่วย อย่าง สช.ก็มีการทำบันทึกข้อตกลงในสำนักงาน 17 ข้อ เพื่อสร้างความตระหนักในการใช้โซเชียลอย่างไรไม่ให้ละเมิดสิทธิ ซึ่งแต่ละองค์กรหากเห็นความสำคัญอาจทำเป็นข้อตกลงภายในองค์กรให้มีความเหมาะสมกับบริบทแวดล้อม ก็ถือเป็นการช่วยยกระดับบรรทัดฐานและช่วยกระตุ้นเตือนให้คนคิดให้ดีก่อนส่งต่อข้อมูล

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์
พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

กำลังโหลดความคิดเห็น