xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้จากระเบิด สอนลูกท่ามกลางภาวะวิกฤต/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เหตุการณ์ระเบิดที่บริเวณแยกราชประสงค์ สร้างความช็อกให้ผู้คนในสังคมยิ่งนัก ถือเป็นความสูญเสียครั้งร้ายแรงมีผู้เสียชีวิตล่าสุด 20 คน บาดเจ็บกว่า 100 ชีวิต สร้างความแตกตื่นโกลาหล เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนพลุกพล่านด้วย ทั้งยังเป็นพื้นที่สำคัญใจกลางเมืองทางเศรษฐกิจของบ้านเราอีกต่างหาก

นอกจากเกิดความแตกตื่นโกลาหลกับเหตุการณ์แล้ว สิ่งที่โกลาหลมากยิ่งกว่า คือ การแพร่ข่าวผ่านสังคมออนไลน์ในทุกช่องทาง ต่างก็ส่งภาพกันว่อนไปหมดทุกเครือข่าย ทั้งภาพของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ หรือแม้แต่ชิ้นส่วนอวัยวะของผู้ประสบเหตุ ซึ่งถูกส่งกันระนาว พร้อมกับข่าวลือ ข่าวมั่ว ข่าวลวง เต็มหน้าสังคมออนไลน์กันเลยทีเดียว สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่ว

รวมไปถึงเรื่องวุ่นอื่น ๆ ที่ตามมา ก็เลยถือโอกาสเขียนต้นฉบับเรื่องนี้ อยากใช้วิกฤตเป็นบทเรียนในการสอนลูกและเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวไปด้วย และพ่อแม่ก็สามารถนำมาปรับสอนลูกผ่านสถานการณ์จริงท่ามกลางภาวะวิกฤตได้

ข้อแรก อย่าคิดว่าลูกเป็นเด็กไม่ควรยุ่ง
พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคิดเสมอว่าลูกเป็นเด็ก ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม หรือมองว่ายังเล็กเกินไป ไม่รู้เรื่องหรอกหรือไม่ควรเข้าไปยุ่ง แต่พ่อแม่ควรจะทำความเข้าใจว่า น่าจะถือโอกาสในการให้ลูกได้เรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของลูก

ถ้าลูกเล็กก็เล่าให้ลูกฟังถึงเหตุการณ์แบบง่าย ๆ โดยให้คำนึงถึงวัยของลูกเป็นสำคัญ หรืออาจจะจำลองเหตุการณ์ใกล้ตัวที่มีสถานการณ์ที่จะทำให้เขาเข้าใจได้ง่าย ถ้าเป็นเด็กโตก็สามารถใช้คำพูดที่ซับซ้อนหรืออธิบายได้มากขึ้น

ข้อสอง คลายข้อสงสัยของลูก
ลูกอาจจะมีข้อสงสัย หรือคำถามมากมาย พ่อแม่ต้องไม่ขี้เกียจตอบหรือแสดงท่าทางรำคาญ ต้องพยายามหาทางตอบ อย่าปัดหรือว่าตอบแบบขอไปที เพราะเมื่อเด็กสนใจ นั่นหมายถึงการเรียนรู้ได้เกิดขึ้น เราก็ไม่ควรปล่อยให้ความอยากเรียนรู้ของลูกผ่านเลยไปเฉย ๆ ถือโอกาสในการเล่าให้เห็นถึงขั้นตอนต่าง ๆ เวลาเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นมา ก็เป็นการเรียนรู้เรื่องอาชีพด้วย เช่น เมื่อเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ามาในพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่ที่ต้องกู้ระเบิด มีคุณหมอที่ต้องช่วยเหลือคนบาดเจ็บ เป็นต้น

ข้อสาม ชี้ ให้เห็นข้อดีข้อเสียของโลกออนไลน์
ข่าวสารบนโลกออนไลน์ก็สามารถนำมาเล่าให้ลูกฟังถึงข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เร็ว แต่เมื่อเร็ว ความผิดพลาดก็อาจตามมาได้ ต้องสอนให้ลูกไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มปัญหา หรือสร้างความสับสนให้กับสังคม ควรจะต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนทุกครั้ง

เรื่องนี้ต้องเริ่มจากพ่อแม่ก่อน ที่ต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของการแชร์ข้อมูล หรือโพสต์รูปภาพที่ไม่เหมาะสมผ่านสังคมออนไลน์ เพราะไม่เช่นนั้นอาจได้รับผลกระทบตามมาอีกมากมาย

ข้อสี่ ฝึกให้ลูกเป็นเด็กช่างสังเกต
ยิ่งปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่เติบโตมากับโลกออนไลน์ มักจมจ่อมอยู่กับตัวเอง อยู่กับสมาร์ทโฟน ไม่ค่อยได้สนใจสิ่งรอบตัว ทำให้ขาดทักษะเรื่องความสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ฉะนั้น ถือโอกาสให้ลูกได้ฝึกสังเกตความเป็นไปผ่านสถานการณ์นี้ได้ แล้วโยงเข้าสู่ชีวิตประจำวันของเขา ถ้าเห็นอะไรที่ไม่น่าไว้วางใจ หรือเห็นสิ่งผิดปกติ ก็ควรให้ลูกแจ้งผู้ใหญ่

ข้อห้า หลีกเลี่ยงภาพความรุนแรงหรือไม่เหมาะสม
ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นผ่านสื่อทุกแขนง ถ้าลูกเล็กพยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้ดู แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องพยายามให้น้อยที่สุด และบอกเขาว่าเป็นภาพที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม ถ้าเป็นเด็กโตก็ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า คนเราขัดแย้งกันได้ คิดเห็นไม่เหมือนกันได้ เหมือนลูกอาจเคยทะเลาะกับเพื่อน แต่สิ่งที่ไม่ควรกระทำเด็ดขาดก็คือการใช้ความรุนแรง เพราะผลที่ตามมามีแต่ความเจ็บปวดและความสูญเสีย

ข้อหก ปลูกฝังจิตสำนึกสาธารณะ
พยายามหามุมด้านบวกของเหตุการณ์ เช่น ในท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้จะต้องมีการขอความช่วยเหลือไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ถ้าสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ก็ควรทำ อาจยกตัวอย่างเรื่องการบริจาคเลือด หรือการขอความช่วยเหลือผู้ที่สามารถใช้ภาษาจีนเป็นล่ามในการพูดคุยกับชาวต่างชาติที่ประสบเหตุ ฯลฯ 
ข้อเจ็ด ตั้งคำถามลูก
การตั้งคำถามกับลูกเป็นเรื่องจำเป็น เพราะจะทำให้เราเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของลูกต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น ถามลูกว่ารู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ครั้งนี้ กับข่าวชิ้นนี้ กับคนที่ประสบเหตุเคราะห์ร้าย กับคนที่ไปช่วยเหลือคนอื่น ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้เขาได้เรียนรู้ความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น ได้เข้าอกเข้าใจผู้อื่นเป็นด้วย

ข้อแปด อย่าโหมใส่ความเกลียดชัง
จริงอยู่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ พวกเราล้วนโกรธผู้ก่อเหตุและประนามผู้คนเหล่านั้นที่ใจร้ายอำมหิตมาก แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำความเกลียดชัง หรือคำหยาบคาย รวมไปถึงท่าทีต่าง ๆ ที่เกลียดชังต่อหน้าลูก เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะประทับลงไปในตัวลูกอย่างที่คุณคาดไม่ถึง

เรื่องการเรียนรู้มีอยู่รอบตัวจริง ๆ ค่ะ แม้แต่ยามวิกฤตเราก็สามารถแปรเป็นโอกาสได้ อยู่ที่ว่าเรามองเห็นหรือเปล่า !

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น