xs
xsm
sm
md
lg

พบ "ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่" ในป่ามาเลเซีย หวั่นติดต่อสู่คน ชี้ป่วยครั้งสองเกิน 2 ปี ทำอาการรุนแรง เร่งทำวัคซีนพ่นจมูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาจารย์มหิดลเร่งพัฒนาวัคซีนพ่นจมูก สกัด "ไข้เลือดออก" เผยยังใช้เวลาพัฒนาหลายปี ชี้ติดเชื้อไข้เลือดออกครั้งที่สอง เกิน 2 ปีจากการป่วยครั้งแรก เป็นช่วงภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์ลดลง ส่งผลอาการป่วยรุนแรง เหตุเซลล์เม็ดเลือดขาวหยุดสร้างภูมิคุ้มกัน ทำไวรัสขยายตัว 100-1,000 เท่า เฝ้าระวังไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ พบในยุงและลิงในป่ามาเลเซีย หวั่นติดต่อสู่คน ห่วงบริจาคเลือดติดเชื้อไข้เลือดออกได้

วันนี้ (13 พ.ย.) ศ.ดร.ศุขธิดา อุบล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไข้เลือดออก อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมงานวิจัย (สกว.) กล่าวในงาน "ไขความจริงวิทยาศาสตร์ของไข้เลือดออก" ว่า ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสไข้เลือดออก และถึงแม้จะมียาต้านไวรัสฯ จริง โอกาสในการใช้รักษาก็น้อยมาก เนื่องจากโอกาสการให้ยาอยู่ที่ 4-5 วัน แต่คนไข้มักจะมาพบแพทย์ช้า โอกาสการให้ยาจึงเหลือเพียง 1-2 วัน จึงไม่สามารถรักษาเพื่อหยุดการเพิ่มจำนวนไวรัสได้ ​ความหวังจึงอยู่ที่วัคซีนป้องกันโรค โดยประเทศไทย ศ.นพ.ณัฐ ภมรประวัติ และ รศ.ดร.สุธี ยกส้าน เป็นนักวิจัยกลุ่มแรกของโลก ที่สามารถพัฒนาให้เชื้อเดงกีอ่อนฤทธิ์ลงได้ทั้ง 4 สายพันธุ์

ทั้งนี้ ​ปัจจุบันในต่างประเทศมีการลงทุนเป็นพันล้านเหรียญ ในการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกรวม 4 สายพันธุ์ โดยใช้​โปรตีนเปลือกหุ้มของเชื้อไวรัสเดงกีไปใส่ในไวรัสไข้เหลือง เพื่อให้ไปสร้างภูมิคุ้มกันไข้เลือดออกขึ้นในร่างกาย โดย​พบว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้ร้อยละ 60 เท่านั้น เนื่องจากพบว่ามีการสร้างภูมิคุ้มกันสูงในบางสายพันธุ์ ขณะที่บางสายพันธุ์ก็สร้างได้ต่ำมากหรือเกือบวัดไม่ได้เลย และยังพบว่าเมื่อติดเชื้อไวรัสแล้ว ไวรัสจะปล่อยโปรตีนชนิดหนึ่งออกมาชื่อ NS1 ซึ่งเป็นพิษทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวปล่อยสารน้ำออกมา และมีผลทำให้ผนังหลอดเลือดรั่ว จึงยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น ดังนั้น การพัฒนาวัคซีนในปัจจุบันจึงพยายามนำ NS1 มาใส่ไว้ในวัคซีนด้วย

ศ.ดร.ศุขธิดา กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยกำลังมีการวิจัยของนักศึกษาทุนโครงการปริญญาเอก  กาญจนาภิเษก ภายใตัการสนับสนุนของ สกว.​ที่​พัฒนาวัคซีนชนิดพ่นทางจมูกเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 3 ซึ่งเป็นชนิดที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ได้ยากที่สุด โดยทำเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย โดยใส่ไว้ในอนุภาคชนิดหนึ่ง ซึ่งจะนำเชื้อเข้าไปสู่ภูมิคุ้มกันได้โดยตรง จึงทำให้ได้ภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ขณะนี้พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในหลอดทดลอง และอยู่ระหว่างการนำไปสู่การทดลองในสัตว์ และการทดลองทางคลินิกต่อไป ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี 

ศ.ดร.ศุขธิดา กล่าวว่า ​ปัจจัยที่ทำให้โรคไข้เลือดออกเกิดความรุนแรง คือ การติดเชื้อไข้เลือดออกต่างสายพันธุ์ครั้งที่ 2 โดยพบว่าการติดเชื้อครั้งที่ 2 จะมีความรุนแรงมากกว่าครั้งแรกอยู่ที่ 15-80 เท่า เนื่องจากเมื่อติดเชื้อครั้งแรกในสายพันธุ์ใดก็ตาม ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันในสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต โดยในช่วง 6 เดือน - 2 ปีหลังการติดเชื้อ ร่างกายจะมีภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์สูง ซึ่งหากได้รับเชื้อสายพันธุ์อื่นในช่วงเวลานี้ จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิตและไม่ทำให้เกิดอาการป่วย แต่ถ้าติดเชื้อหลังจากระยะเวลา 6 เดือน - 2 ปี ภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์จะลดลง จึงทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น 

" สาเหตุที่ทำให้การติดเชื้อหลังภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์ลดลง แล้วทำให้ไข้เลือดออกมีอาการรุนแรง เพราะแทนที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน แต่พบว่าอนุภาคของไวรัสไปจับกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ไม่สร้างภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ไวรัสเจริญเติบโตมาก ​100-1,000 เท่า เช่น จาก 1 ล้านตัวเป็น 100 ล้าน ถึง 1,000 ล้านตัว ทำให้อาการรุนแรง และจะทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวผิดปกติ โดยสร้างสารน้ำปล่อยออกมานอกเซลล์ มีผลทำให้เกิดการทำลายเกร็ดเลือด ระบบการแข็งตัวของเลือดจึงเสียไป รวมถึงทำให้ผนังหลอดเลือดเสียและรั่ว จนน้ำและโปรตีนบางตัวรั่วออกจากหลอดเลือด หากหยุดยั้งไม่​ทันจะทำให้เกิดอาการช็อก นอกจากนี้ NS1 ซึ่งเป็นพิษก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผนังหลอดเลือดยิ่งรั่ว ผู้ป่วยจึงยิ่งมีอาการหนักมาก ” ศ.ดร.ศุขธิดา กล่าว  

ศ.ดร.ศุขธิดา กล่าวว่า ปัจจุบันยังต้องเฝ้าระวังเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเดงกีในหลายประเด็น คือ การค้นพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เมื่อช่วง​ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อยากเรียกว่า สายพันธุ์ที่ 5 โดยพบเชื้อนี้ในยุงและลิงที่อยู่ในป่าแถบ​ชายแดนประเทศมาเลเซีย ซึ่งหากสายพันธุ์นี้สามารถพัฒนาตัวเองเพิ่มจำนวนไวรัสจนสามารถเข้าเซลล์มนุษย์ได้ก็จะทำให้เกิการติดต่อมาสู่คน ​ซึ่งลิงและมนุษย์มีความใกล้เคียงกัน โอกาสเข้าสู่คนจึงค่อนข้างสูง ที่น่ากังวลคือ ถ้าสายพันธุ์ที่ 5 ออกจากป่ามาสู่เมือง ซึ่งอาจเกิดจากการท่องเที่ยวป่า ก็จะทำให้การควบคุมโรคไข้เลือดออกเป็นปัญหามากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยในต่างประเทศ​ 3 เดือนที่ผ่านมา พบ​ว่า เชื้อเดงกีสามารถถ่ายทอดได้จากการบริจาคเลือด ​โดยพบจำนวน 4 รายแล้ว ซึ่งปัจจุบันเชื้อเดงกีถือเป็น​เชื้อที่ไม่มีการตรวจในการบริจาคเลือด ดังนั้น หากประชาชนรู้สึกตัวว่า มีไข้ ก็ไม่ควรบริจาคเลือด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น