คณะแพทย์รามาฯ เผยอาการป่วย “ปอ ทฤษฎี” ยังไม่พ้นวิกฤต แต่ตอบสนองต่อการรักษาดี เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน ระบุ อาการรุนแรงเกิดขึ้นจากภาวะภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินไปจนทำลายเซลล์อื่น ชี้เป็นภาวะที่พบได้น้อย ไม่ทราบสาเหตุ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ยันปั๊มหัวใจแค่รอบเดียว ด้านพ่อแม่นักแสดงขอบคุณประชาชนที่ห่วงใย
วันนี้ (11 พ.ย.) ที่ รพ.รามาธิบดี ศ.นพ.วินิต พัวประดิษฐ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี และคณะแพทย์ผู้ให้การรักษา นายทฤษฎี สหวงษ์ หรือ ปอ ดารานักแสดงชื่อดัง ที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในอาการวิกฤต
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า รพ.รับตัวผู้ป่วยมาเมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยส่งต่อมาจาก รพ.เอกชน โดยระบุว่า เป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งขณะนั้นผู้ป่วยเริ่มมีอาการหนักแล้ว ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และจากการวินิจฉัยซ้ำพบว่าเป็นโรคไข้เลือดออกจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสายพันธุ์ ยังไม่ทราบผลว่าเป็นสายพันธุ์อะไร แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่แน่นอน ทั้งนี้ พ่อแม่และญาติของนักแสดงหนุ่มได้ฝากขอบคุณประชาชนที่ห่วงใยและส่งแรงใจมาให้ผู้ป่วย รวมถึงการที่จะมาบริจาคเลือด
นพ.พอพล โรจนพันธุ์ หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี หนึ่งในคณะแพทย์ผู้ดูแลอาการป่วยของ ปอ ทฤษฎี กล่าวว่า อาการของผู้ป่วยตอนส่งตัวมาช่วงแรกถือว่าวิกฤตที่สุด มีปัญหาหายใจไม่สะดวก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำต้องรักษาตามอาการ และต่อมาพบว่ามีภาวะไตวายเฉียบพลัน เนื่องจากภาวะเลือดเป็นกรดค่อนข้างสูง ทำให้ความดันโลหิตตกลง จึงทำการฟอกไตฉุกเฉินมากพอสมควร ซึ่งผลการรักษาความเป็นกรดเป็นด่างของเลือดค่อนข้างน่าพอใจ นอกจากนี้ ได้ให้ยากระตุ้นความดันจนเป็นปกติ
“ โดยปกติไข้เลือดออกในคนที่อายุมาก มักจะมีอาการรุนแรง ส่วนกรณีของนักแสดงหนุ่มที่มีอาการรุนแรงนั้น จากการปรึกษากันในทีมแพทย์ให้ความเห็นว่าเกิดจากการติดเชื้อและมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น แต่ภูมิต้านทานดังกล่าวทำงานมากเกินไป จนไปกำจัดเซลล์อื่น ๆ ด้วย จึงทำให้ร่างกายมีอาการทรุดหนัก ซึ่งได้ให้ยารักษาตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 10 พ.ย. แล้ว และจะให้ยาอีกครั้งในช่วงเย็นวันที่ 11 พ.ย. เป้าหมายสูงสุดคือหยุดการอักเสบในตอนนี้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ภูมิต้านทานทำงานมากเกินไปนั้นยังไม่ทราบว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่ไม่ใช่ภาวะที่เกิดขึ้นได้บ่อย และคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาภาวะภูมิต้านทานทำงานมากเกินไปหลังติดเชื้อไข้เลือดออกนั้น ไม่เคยพบรายงานลักษณะนี้มาก่อน แต่เคยพบในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย เป็นต้น ” นพ.พอพล กล่าว
นพ.พอพล กล่าวว่า ขณะนี้ยังต้องรักษาตามอาการ แม้ผู้ป่วยจะตอบสนองต่อการรักษาได้ดี เกล็ดเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ายังอยู่ไม่พ้นวิกฤต ซึ่งจากนี้จะพยายามระมัดระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ และต้องประเมินอาการแบบวันต่อวัน ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะพ้นวิกฤตและจะหายกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไร เพราะอาการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ซึ่งคณะแพทย์จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ยืนยันว่าผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ไม่ได้มีอาการโคม่าหรือหมดสติแต่อย่างใด แต่ที่เห็นว่าผู้ป่วยไม่ขยับตัวนั้น เพราะการใส่เครื่องช่วยหายใจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว จึงต้องให้ยานอนหลับและยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยพักผ่อนและลดการต่อต้านการหายใจจากเครื่องช่วยหายใจ แต่เมื่อดูจากการตอบสนองของการสัมผัส และม่านตา ถือว่ายังดีอยู่
ศ.พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญโรคเลือด คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ผู้ป่วยมีอาการเลือดออกรุนแรง และเกล็ดเลือดต่ำ แต่จากการได้รับเกล็ดเลือดจากธนาคารเลือดของ รพ.รามาฯ นั้น พบว่าเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น เลือดออกน้อยลง มีการตอบสนองต่อการรักษาดี ขอยืนยันว่า เลือดของโรงพยาบาลมีเพียงพอ หากจะมาบริจาคเลือดสามารถบริจาคที่ใดก็ได้ รวมถึงสภากาชาดไทย เพราะได้ช่วยเหลือผู้ป่วยเหมือนกัน ส่วนอาการรุนแรงจากภูมิต้านทานทำงานมากเกินไปนั้นในเด็กที่ป่วยไข้เลือดออกก็สามารถพบได้ แต่ไม่บ่อย จากนี้ต้องติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดไม่ให้มีอาการแทรกซ้อน จึงไม่อยากให้มีการเข้าออกหาผู้ป่วยมากเกินไป เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงการปั๊มหัวใจของ ปอ ทฤษฎี นพ.พอพล กล่าวว่า จากภาวะเลือดเป็นกรดสูงทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในช่วงสั้น ๆ ประมาณ 3 - 5 นาที จึงได้ทำการปั๊มหัวใจช่วงสั้น ๆ แค่ครั้งเดียว จนหัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ จากนั้นจึงให้ยากระตุ้นและปรับเปลี่ยนเกลือแร่ในร่างกายเพื่อให้กรดด่างดีขึ้น การทำงานของัวใจก็ดีขึ้น
เมื่อถามว่าในคนทั่วไปที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก จะสังเกตอาการภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินไปจนมีอาการรุนแรงเช่นนี้ได้อย่างไร นพ.พอพล กล่าวว่า หากมีอาการขอให้มาพบแพทย์จะดีกว่า ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าผิดปกติหรือไม่ แต่กรณีดังกล่าวนั้นผู้ป่วยอยู่ในมือแพทย์ตั้งแต่ต้น อย่างที่บอกว่าอาการรุนแรงดังกล่าวขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย และภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย สำหรับอาการรุนแรงของโรคไข้เลือดออกนั้น ยังอาจเกิดขึ้นได้จากการที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน และเกิดมีการติดเชื้อในสายพันธุ์อื่น ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นได้
เมื่อสอบถามถึงภาพ ปอ ทฤษฎี ขณะนอนป่วย รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ใช่ภาพที่หลุดออกมาจาก รพ.รามาธิบดี เนื่องจากชุดผู้ป่วยของโรงพยาบาลไม่ใช่สีส้ม แต่เป็นสีม่วง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่