โดย...นพ.สุรวัฒน์ อดิเรกเกียรติ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลปิยะเวท
ถือเป็นเรื่องราวอันน่าประทับใจมาก ๆ สำหรับข่าวของนักแสดงลูกกตัญญูท่านหนึ่งที่ตัดสินใจสละไตของตนเอง เพื่อมอบไตให้กับคุณแม่ของตน ที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังและต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อฟอกเลือดอยู่เป็นประจำ วันนี้เราเลยมีข้อมูลดี ๆ จากอายุรแพทย์โรคไต ว่าถ้าหากเราได้ทำการบริจาคไตให้แก่ผู้อื่นแล้ว เราจะมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไร และการบริจาคไตแก่ผู้อื่นนั้นเป็นอันตรายหรือไม่
การปลูกถ่ายไต หรือการเปลี่ยนไต (kidney transplant) คือ วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยการนำไตของผู้อื่นที่ยังดีอยู่ อาจจะมาจากไตของคนที่มีชีวิต (living donor) หรือจากผู้ที่เสียชีวิต (deceased donor) แล้วก็ได้ แต่ต้องผ่านการตรวจสอบแล้วว่าเข้ากันได้กับผู้ป่วย มาทำหน้าที่ทดแทนไตเดิมที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว
ปัจจุบันการปลูกถ่ายไตนับว่าเป็นวิธีการรักษาที่ประสบความสำเร็จสูง ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายไม่ต้องฟอกเลือดไปตลอดชีวิต และสามารถมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงคนปกติ อีกทั้งยังสามารถมีชีวิตยืนยาวมากกว่าการรักษาด้วยวิธีการอื่น ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตที่โรคดำเนินเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้ายทุกรายที่ไม่มีข้อห้ามในการปลูกถ่ายไต แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการรักษาด้วยวิธีนี้
สำหรับข้อควรทราบและการเตรียมตัวของผู้ที่จะทำการบริจาคไตนั้น ผู้บริจาคต้องมีความเต็มใจที่จะบริจาคด้วยความบริสุทธิ์ใจ และต้องเข้ารับการตรวจร่างกาย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ และตรวจสภาพจิตใจให้พร้อม ก่อนที่จะทำการผ่าตัด
คำถามต่อมา คือ ผู้บริจาคไตจะมีอันตรายหรือไม่ และหลังจากผ่าตัดแล้วจะมีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง กล่าวคือ การผ่าตัดไตก็คือการผ่าตัดชนิดหนึ่งซึ่งย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เพราะการผ่าตัดปลูกถ่ายไตต้องมีการวางยาสลบเหมือนการผ่าตัดอื่น ๆ แต่ความเสี่ยงที่เกิดจากการผ่าตัดนั้นพบว่ามีน้อยมาก ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากการผ่าตัดไส้ติ่งหรือการผ่าตัดคลอดเลย หลังผ่าตัดต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยเฉลี่ยประมาณ 3 - 4 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลติดเชื้อ ก็สามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ และสามารถกลับมาทำงานตามปกติได้ประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย
โดยปกติหากเรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง การบริจาคไต 1 ข้าง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานในชีวิตประจำวัน สามารถทำงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ การมีไตข้างเดียวสามารถที่จะรับภาระในการกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกิน ตลอดจนทำหน้าที่อื่น ๆ ของไตได้มีประสิทธิภาพและเพียงพออยู่แล้ว และพบว่าหลังจากที่เหลือไตข้างเดียวแล้วก็ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตอื่น ๆ ตามมาในภายหลัง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้บริจาคไต
มีข้อมูลจากวารสารในต่างประเทศได้ทำการศึกษา พบว่า ผู้ที่บริจาคไตสามารถมีอายุยืนยาวไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไปเลย ดังนั้นไม่ว่าจะมีไต 2 ข้าง หรือเหลือไตข้างเดียว หากเราดูแลตัวเองโดยทานน้ำให้เพียงพอ ลดอาหารเค็ม หลีกเลี่ยงยาสมุนไพรหรือยาที่มีผลกระทบต่อไต ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ โอกาสที่จะเกิดโรคไตก็น้อยมาก แต่ในผู้ที่เหลือไตข้างเดียวควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับไตที่เหลืออยู่ด้วย
นอกจากการบริจาคไตจะไม่ส่งผลต่อสุขภาพแล้ว ผู้ที่ให้จะรู้สึกมีความภาคภูมิใจและยังได้บุญกุศลที่ได้ให้ชีวิตใหม่กับผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายอีกด้วย
สำหรับในประเทศไทยนั้นกฎหมายแพทยสภา ระบุแหล่งที่มาของไตบริจาคที่ผู้ป่วยจะได้รับมาจาก 2 แหล่ง คือ ผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยตามกฎหมายระบุว่าต้องเป็น ญาติทางสายเลือด คือ พ่อแม่พี่น้องร่วมสายเลือด บุตรหลานที่เป็นสายเลือดเดียวกันอย่างแท้จริง และรวมถึงสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยการบริจาคไตจากคนที่มีชีวิตจะต้องยินยอมด้วยความเต็มใจ ไม่เป็นการซื้อขายไต
ส่วนผู้ประสงค์ที่จะบริจาคไตหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว เนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้บริจาคไตตรงส่วนนี้ค่อนข้างน้อย ถือโอกาสนี้ขอเชิญชวนและฝากข้อมูลเบื้องต้นหากมีผู้สนใจที่ต้องการบริจาคไต โดยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย นอกจากผู้บริจาคจะได้บุญกุศลใหญ่หลวงแล้ว ยังสามารถช่วยให้ชีวิตใหม่กับคนไข้โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอีกด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่