อดีตนายกสมาคมโรคไตฯ ชี้นโยบายล้างไตช่องท้อง ช่วยผู้ป่วยโรคไตทั่วประเทศ แก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ ศูนย์บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่มีจำกัด ยันคุณภาพรักษาไม่ต่างกัน อัตราการติดเชื้อลดลงอยู่ในเกณฑ์เดียวกับต่างประเทศ อันตรายน้อยกว่าผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดมากกว่า
พล.ต.พญ.อุษณา ลุวีระ อดีตนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และอดีตนายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินสิทธิประโยชน์ให้การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ส่งผลให้ผู้ป่วยที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพสามารถเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมี 3 วิธีด้วยกัน คือ 1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) 2. การล้างไตผ่านช่องท้อง (CAPD) และ 3. การปลูกถ่ายไตซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดที่มีผู้บริจาคไตน้อย ผู้ป่วยต้องได้รับการบริจาคไตจากญาติที่มีสายเลือดเดียวกัน สามีหรือภรรยา รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตายซึ่งศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาดชาดไทยได้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย ระหว่างรอการบริจาคไตผู้ป่วยจึงต้องทำการล้างไตด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก่อน
พล.ต.พญ.อุษณากล่าวว่า ส่วนการล้างไตผ่านช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ประเทศไทยเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2525 ขณะนั้นยังเป็นการล้างไตโดยใช้น้ำยาล้างไตในบรรจุภัณฑ์แบบขวด ไม่ได้เป็นถุงน้ำยาล้างไตที่เป็นมาตรฐานอย่างในปัจจุบัน ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร มีการติดเชื้อค่อนข้างมาก แต่หลังจากมีการนำน้ำยาล้างไตที่บรรจุภัณฑ์แบบถุงตามมาตรฐานสากลมาใช้ ประกอบกับมีการพัฒนาอุปกรณ์และเทคนิคการล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง ทำให้การล้างไตผ่านช่องท้องได้ผลที่ดี
ส่วนที่ สปสช.มีการกำหนดนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก (CAPD First Policy) มองว่าเป็นแนวทางที่ช่วยให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลในต่างจังหวัด ถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวก แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และศูนย์บริการการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่การล้างไตผ่านช่องท้อง พยาบาล 1 คน สามารถดูแลผู้ป่วยได้ถึง 50 คน อีกทั้งการเปิดศูนย์ไตเทียมเพิ่มในพื้นที่ห่างไกลยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องมีการลงทุนที่สูงมากและขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ขณะที่การล้างไตช่องท้องหลังจากที่สอนวิธีเพียง 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยก็สามารถทำเองที่บ้านได้ โดยนัดพบแพทย์เพียงแค่ 2-3 เดือนต่อครั้งเท่านั้น ไม่ต้องเดินทางมาฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่โรงพยาบาล 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และยังต้องใช้เวลาฟอกเลือดครั้งละ 4 ชั่วโมง ไม่รวมระยะเวลาเดินทาง ทำให้ผู้ป่วยเสียเวลาค่อนข้างมาก ผู้ป่วยที่รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหากหยุดฟอกเลือดไปเพียง 2-3 วัน จะมีอาการหอบเหนื่อยจากน้ำท่วมปอดได้ง่าย
“ทั่วโลกมีการศึกษาการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ระหว่างวิธีล้างไตผ่านช่องท้อง และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ปรากฎฏว่ามีคุณภาพการรักษาที่ไม่แตกต่างกัน โดยข้อดีของการล้างไตผ่านช่องท้องคือผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้หลากหลาย เนื่องจากมีการฟอกเลือดตลอดเวลา ทำให้ผู้ป่วยสามารถกินผักและผลไม้ที่มีโปแตสเซียมสูงได้ ขณะที่ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมซึ่งต้องเว้นระยะการฟอกเลือด 2-3 วัน ในระหว่างนั้นหากกินผักและผลไม้ที่มีโปแตสเซียมสูง จะเกิดภาวะโปแตสเซียมคั่งในร่างกายจนเกิดภาวะเป็นพิษ ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้” อดีตนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยกล่าว
พล.ต.พญ.อุษณากล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการติดเชื้อในผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง จากการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการติดเชื้อลดลง โดยปัจจุบันอัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องของประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40 เดือนต่อครั้ง นับว่าดีกว่าเดิมมาก ทั้งยังเป็นอัตราเฉลี่ยเดียวกับสากล สำหรับผู้ป่วยที่รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้มากกว่าและเป็นอันตรายกว่า เนื่องจากในการฟอกเลือดผู้ป่วยต้องได้รับการแทงเข็มลงไปในเส้นเลือดดำโดยตรงและนำเลือดออกมาฟอกนอกร่างกาย 4-5 ชั่วโมง ทุก 2-3 วัน ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ อีกทั้งในผู้ป่วยบางรายไม่สามารถผ่าตัดเส้นเลือดได้ จึงต้องคาเส้นเทียมไว้ในเส้นเลือดดำ ยิ่งเพิ่มโอกาสติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งนอกจากเป็นอันตรายแล้ว ยังส่งผลต่อค่าใช้จ่ายรักษาที่เพิ่มมากขึ้น จึงมองว่าเป็นข้อดีของนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรกหรือ CAPD First Policy