xs
xsm
sm
md
lg

เตือน “หมา-แมว” กัดข่วน รีบพบแพทย์ ระวังโรคพิษสุนัขบ้า เผยตายแล้ว 4 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังโรคพิษสุนัขบ้า ป่วยแล้วตายทุกราย หากถูกกัดหรือข่วน รีบไปพบแพทย์ทันที เผยมีคนตายจากโรคนี้แล้ว 4 ราย

วันนี้ (11 ก.ย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ปัจจุบันพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าทั่วโลกมากกว่า 60,000 คนต่อปี สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวกัด-ข่วน แล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาหรือเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถือเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสโรคมากที่สุด โดยข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 11 ส.ค. 2558 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 4 ราย จากจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดชลบุรี จังหวัดละ 2 ราย

นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ สัตว์นำโรคได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว หรือแม้กระทั่งสัตว์เศรษฐกิจ วัว ควาย แพะ แต่สัตว์นำโรคที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย คือ สุนัข การติดเชื้อจะเกิดจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือถูกน้ำลายกระเด็นเข้าบาดแผล ทั้งนี้ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งเกิดอาการของโรค ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์ แต่อาจสั้นเพียงแค่ 7 วันหรือยาวเกินกว่า 1 ปี ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของเชื้อที่ได้รับ

"อาการของโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มจาก 2-3 วันแรกผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด" นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้านั้น ไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากติดเชื้อและมีอาการแล้ว จะเสียชีวิตทุกราย ดังนั้นหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน และให้ช่วยกันจับอย่างระมัดระวังอย่าให้ถูกกัดหรือข่วน จากนั้นกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตายให้นำหัวสัตว์หรือตัวสัตว์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ ต่อไป

นพ.โอภาส กล่าวว่า การป้องกันโรค ขอแนะนำให้เจ้าของพาสุนัขของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสุนัขมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ต้องขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง เลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบ ไม่ปล่อยทิ้งเป็นสุนัขจรจัด ก็เป็นอีกวิธีที่ประชาชนสามารถช่วยรัฐในการแก้ปัญหาได้ รวมถึงการมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า รู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วย คาถา 5 ย. “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่ง กับสุนัขที่ไม่ปรากฏเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ” จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ในกรณีที่ถูกสุนัขบ้านหรือถูกสุนัขจรจัด แมว หรือสัตว์อื่นๆกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน เพื่อช่วยลดอัตราเกิดโรค หลังจากนั้นให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เร็วที่สุด เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคจนครบตามที่แพทย์แนะนำ

"ในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมงาน วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กันยายนของทุกปี โดยในปีนี้ “การรณรงค์วันป้องกันโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า)โลก 2558 จัดระหว่างวันที่ 24-25 กันยายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จังหวัดนครปฐม ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมต่างๆมากมาย เช่น การทำคู่มือโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอักษรเบลล์ เพื่อคนตาบอด, การทำหมันสุนัขและแมว, การให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์, การฝังไมโครชิฟฟรี, นิทรรศการวิชาการ และการเสวนาให้ความรู้กับประชาชน โดยกิจกรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือของ 6 หน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยมหิดล 2.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.กรุงเทพมหานคร 4.สภากาชาดไทย 5.กรมปศุสัตว์ และ 6.กรมควบคุมโรค" นพ.โอภาส กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น