xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ยันบูรณะพระบรมธาตุฯโปร่งใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อธิบดีกรมศิลป์ เต้น บูรณะพระบรมธาตุนครฯโปร่งใส ยันมีกรรมการร่วมตรวจสอบทุกขั้นตอน ทั้งคนขึ้นลง การเก็บทองคำ เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหารอยคราบสนิทส่วนปลียอดพระบรมธาตุ

สืบเนื่องจากองค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนากลุ่มพระสงฆ์ภาคใต้ นำโดย พระอธิการฉัตรชัย อธิจิตฺโต จากวัดบางใหญ่ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เพื่อขอให้ตรวจสอบกรมศิลปากรต่อการบูรณะยอดพระบรมธาตุเจดีย์ โดยตั้งข้อสงสัยถึงการใช้ทองคำบริสุทธิ์ทำไมมีคราบสนิมเกิดขึ้น

นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร ขอยืนยันว่า การบูรณะพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ครั้งแรกปี 2530 จนถึงปัจจุบัน มีคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ได้แก่ กรมศิลป์ จ.นครศรีธรรมราช และภาคประชาชน เพื่อให้มีการตรวจสอบการดำเนินการทั้งหมด ให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งมีการค้นตัวทั้งผู้ขึ้นและลงพระบรมธาตุ และที่ทางคณะสงฆ์ผู้ร้องเรียนมาอ้างว่าทองคำหายไปถึง 40 กิโลกรัมนั้น ยิ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะในระหว่างการบูรณะก็ได้นำทองคำเก็บไว้ที่วัดทั้งหมด เวลาจะนำมาใช้ประกอบปลียอดพระบรมธาตุ ก็ค่อยเบิกมาใช้เป็นส่วน ๆ จนครบ มีกรรมการร่วมตรวจสอบโดยละเอียด ส่วนคราบสนิมที่ออกมาจากแผ่นทอง นั้น จากการตรวจสอบล่าสุด เป็นการออกมาทางบัวกลุ่มของฐานปลียอดพระบรมธาตุ คาดว่า เกิดจากสนิม ที่เกาะตะปูเหล็กที่ตอกยึดระหว่างแผ่นทองกับพระบรมธาตุ

นายบวรเวท กล่าวว่า ในการบูรณะปี 2558 ตนได้เน้นย้ำ ไปยัง นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมาก่อนทำการบูรณะ เพื่อจะได้ประชุมหารือกัน ตรวจสอบโดยละเอียด ให้มีความชัดเจน ทั้งการกำหนดสำรวจ วิธีการอนุรักษ์ การขึ้นไปทำงาน และการให้ข่าว หากยังไม่ตั้งคณะกรรมการก็ยังไม่ให้ดำเนินการ โดยแผนที่วางไว้ จะมีการรื้อบัวกลุ่มออก เพื่อดูว่าข้อสันนิษฐานไว้จริงหรือไม่ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วว่า เกิดจากสนิมที่เกาะตะปูจริง ก็จะต้องเปลี่ยนมาใช้ตะปูสเตนเลส เพื่อไม่ให้เกิดคราบสนิทอีก

นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช กล่าวว่า วันที่ 21 - 22 ก.ย. นี้ เจ้าหน้าที่จากสำนักช่างสิบหมู่ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร จะร่วมกันตรวจสอบรอบคราบที่ไหลออกมากจากปลียอดพระบรมธาตุ โดยจะมีการเปิดแผ่นทองที่โอบพระบรมธาตุอยู่ออก เพื่อหาร่องรอยคราบสนิท ที่ไหลออกมา ทั้งนี้ จากการบูรณะที่ผ่านมา มีการจัดทำรายงาน ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช โดยได้มีการระบุน้ำหนักทองคำที่ใช้ประมาณ 150 กิโลกรัม โดยนำมาจากหลายส่วน ทั้งทองคำที่ได้รับบริจาค ทองที่ต้องซื้อเพิ่ม โดยทองรูปพรรณส่วนที่ขาดต้องมีการหลอมใหม่ และอาจจะต้องสูญเสียน้ำหนักไปกับไฟบ้าง ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าทองคำหายไปนั้น เราสงสัยว่า ผู้ร้องเรียนนำตัวเลขมาจากไหน เพราะการจัดการ มีคณะกรรมการตรวจสอบ ทุกระยะ แม้กระทั่งการเก็บทองที่มีสภาพฉีดขาดเปื่อยยุ่ย ก็มีการจดบันทึกเอาไว้ แล้วมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำการเก็บรักษา และทำการหลอมทองขึ้นมาใหม่เป็นแผ่นอีกครั้ง

นายอาณัติ กล่าวว่า ส่วนการจัดสร้างอาคารแบบแปลนอาคารฉากบังร้านค้า ซึ่งผู้ร้องเรียนอ้างว่าไม่กลมกลืนกับวัด นั้น ขอชี้แจงว่า เป็นการออกแบบตามอาคารเก่า แบบชิโนโปรตุกีส ใน จ.ภูเก็ต ซึ่งสถาปัตยกรรมของชาติต่าง ๆ ล้วนแต่นำมาใช้ในพระพุทธศาสนาได้ ขณะที่ สถาปัตยกรรมไทย ก็ยังถูกนำไปใช้ในศาสนาต่าง ๆ ได้ เห็นได้จาก มัสยิดโบราณทางภาคใต้ ก็ยังนำสถาปัตยกรรมไทย แบบโบสถ์ไปใช้ผสมผสาน ขณะที่วัดไทย ก็นำสถาปัตยกรรมยุโรปมาสร้างผสมผสานกันไปได้เช่นกัน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น