สถาบันโรคผิวหนังจัดประชุมวิชาการ ชูรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังแบบเฉพาะราย ช่วยวินิจฉัยได้ละเอียด เลือกวิธีการรักษาเหมาะสม ดึงงานพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลช่วยวินิจฉัยโรคผิวหนังกรรมพันธุ์ แยกแยะโรคผิวหนังที่อาการทางคลินิกไม่ชัดเจน ตรวจสอบการติดเชื้อ และการแพ้ยา เพิ่มการรักษาให้มีประสิทธิภาพ
วันนี้ (10 ก.ย.) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปีของสถาบันโรคผิวหนัง ว่า จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ในปี 2556 โรคผิวหนังเป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับ 8 ของประเทศ มีอัตราป่วย 98.64 ต่อประชากร 1,000 คน ทั้งนี้ สถาบันโรคผิวหนังเป็นสถาบันหลักในการดูแลปัญหาโรคผิวหนังของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วยมารับบริการที่สถาบันโรคผิวหนังเฉลี่ยวันละ 800 ราย และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน จึงจัดให้มีการประชุมวิชาการสถาบันโรคผิวหนังขึ้น เพื่อให้บุคลากรได้รับความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านโรคผิวหนังที่มีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางคลินิกในกลุ่มโรคผิวหนังที่สำคัญ และเป็นปัญหาทางเวชปฏิบัติ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้เน้นในเรื่องการรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังที่แตกต่างเฉพาะราย
นพ.เวสารัช เวสสโกวิท รอง ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การรักษาโรคผิวหหนังที่แตกต่างเฉพาะรายตามสภาพปัญหาของผู้ป่วย คือ การรักษาโรคผิวหนังโดยที่แพทย์ให้ความสำคัญเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะตัว การใช้ชีวิตประจำวัน และความต้องการของผู้ป่วยแต่ละคนที่แตกต่างกัน เพื่อเลือกการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งปัจจุบันการรักษาแบบเฉพาะรายเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการสาธารณสุขมากขึ้น เป็นการคัดเลือกการรักษาผู้ป่วยตามลักษณะปัจเจกบุคคลตามความต้องการและความสะดวกของผู้ป่วยในทุกระยะของการดูแลรักษา รวมไปถึงการวินิจฉัย การป้องกัน การดูแลรักษา และการติดตามหลังการรักษา สำหรับปัจจุบันมีการรักษาแบบเฉพาะบุคคล 3 วิธี คือ 1. การรักษาแบบแม่นยำ เป็นการนำข้อมูลบางอย่างมาเป็นตัวตัดสินใจในการเลือกรักษาผู้ป่วย เช่น ข้อมูลทางพันธุกรรม เพื่อพยากรณ์โรค การดูแลรักษา เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ความเสี่ยงต้อการแพ้ยา ความเสี่ยงต้อการเกิดโรคผิวหนัง เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน โรคท้าวแสนปม 2. การรักษาแบบเฉพาะตัว และ 3. การรักษาแบบใช้ผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง คือ การรักษาที่พิจารณาตามความสะดวก หรือความต้องการของผู้ป่วย เช่น บางคนไม่ต้องการรับประทานยา หรือไม่อยากทายา ก็เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม เป็นต้น
นพ.เวสารัช กล่าวว่า นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนัง ด้วยอาศัยงานด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลมาใช้ด้วย โดยจัดตั้งห้องปฏิบัติการทางพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล และเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เช่น เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่ เครื่องสกัดดีเอ็นเอ เครื่องถอดรหัสพันธุกรรม เป็นต้น ซึ่งการใช้พันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลจะช่วยให้วินิจฉัยโรคผิวหนังที่เกิดจากกรรมพันธุ์ได้ พยากรณ์โรค และความรุนแรง รวมไปถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสมและป้องกันไม่ให้ลูกคนถัดไปต้องป่วยด้วยโรคผิวหนังที่เกิดจากกรรมพันธุ์ได้ นอกจากนี้ ยังช่วยให้แยกแยะโรคผิวหนังหลายโรคที่มีลักษณะและอาการคล้ายกัน ซึ่งไม่สามารถแยกแยะด้วยอาการทางคลินิกได้ ช่วยแยกแยะโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งจะรวดเร็วกว่าการเพาะเชื้อที่ใช้เวลานานและบางครั้งอาจเพาะเชื้อไม่ขึ้น รวมไปถึงช่วยดูว่าผิวหนังที่มีการอักเสบ เช่น อักเสบจากการฉีดฟิลเลอร์มีการติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องแยกให้ชัดเจน เพราะหากไม่ใช่การติดเชื้อจะรักษาด้วยการให้สเตียรอยด์ แต่หากติดเชื้อก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งหากไม่แยกแยะให้ชัดเจนแล้วให้ยาสเตียรอยด์ในคนที่ติดเชื้อก็จะทำให้ติดเชื้อมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายยังช่วยในเรื่องของการตรวจการแพ้ยาด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่