xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาสอบโอเน็ต ไม่ได้อยู่ที่ปรนัยหรืออัตนัย/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจาก www.theactkk.net
ภายหลังจากปรับเปลี่ยนเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ ก็มีนโยบายออกมาติดต่อกันสัปดาห์ละนโยบายกันเลยทีเดียว
นโยบายแรกลดจำนวนชั่วโมงเรียนลง 2 ชั่วโมง ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายจนถึงทุกวันนี้
และนโยบายต่อมา ก็คือ การให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ปรับการออกข้อสอบใหม่ ด้วยการลดข้อสอบแบบปรนัย และเพิ่มอัตนัย โดยจะดำเนินการปรับเปลี่ยนข้อสอบโอเน็ต เริ่มนำร่องในข้อสอบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 วิชาภาษาไทย ปีการศึกษา 2559
ในระยะแรก การสอบโดยใช้ข้อสอบอัตนัย จะไม่เกินร้อยละ 20 โดยเป็นการเขียนตอบสั้น ๆ ส่งผลให้ข้อสอบจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ข้อสอบปรนัยร้อยละ 80 และ ข้อสอบอัตนัยร้อยละ 20
ความจริงทั้งสองนโยบายที่คลอดออมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เป็นเจตนาดีของเจ้ากระทรวงทีมใหม่แน่นอน แต่ดูเหมือนมันจะคลอดออกมาเป็นท่อน ๆ อีกแล้ว
เพราะในรายละเอียดยังมีเรื่องที่ควรต้องพิจารณาให้รอบคอบ และเตรียมความพร้อมมากกว่านี้ ทั้งกระบวนการออกข้อสอบ การตรวจคำตอบที่ได้มาตรฐาน หรือมาตรฐานของบุคลากรที่ต้องเป็นผู้ตรวจคำตอบ อุปกรณ์ ฯลฯ
แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดจริงหรือ !
ปัญหาของการสอบโอเน็ต เป็นปัญหาของข้อสอบหรือปัญหาที่ตัวเด็กกันแน่
ทำไมผลคะแนนสอบโอเน็ตของเด็ก ๆ ตกต่ำทั่วประเทศ
ปัญหาคือทำไมเด็กส่วนใหญ่ของประเทศทำไม่ได้ นี่ขนาดเด็กเรียนกวดวิชากันสนั่นเมืองด้วยนะ บางคนถึงกับกวดวิชาเฉพาะสอบโอเน็ตด้วยซ้ำ
ดิฉันมีลูกอยู่ในวัยที่ผ่านการสอบโอเน็ตมาตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 6 จนปัจจุบันก็สอบโอเน็ตระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำได้เขาบอกว่ายาก เพื่อน ๆ ก็บ่นว่ายาก และเชื่อว่าคงตกเกือบยกชั้น
แม้แต่ผู้ใหญ่เอง ที่เคยเห็นข้อสอบโอเน็ตที่กระเด็นเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ เราก็ยังตกใจไม่น้อยต่อข้อสอบโอเน็ต จนกลายมาเป็นมุกให้ผู้คนในสังคมต้องหยิบขึ้นมาพูดคุยกึ่งประชดประชันต่อข้อสอบเหล่านั้น
การสอบโอเน็ต - O-NET (Ordinary National Educational Test) เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนที่ต้องการวัดผ่านการจัดการทดสอบในระดับชาติ โดยมีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบและจัดสอบทั่วประเทศ
อาจารย์เกียรติวรรณ อมาตยกุล เคยพูดถึงเรื่องข้อสอบโอเน็ตในบ้านเราว่ามีปัญหามาก คะแนนโดยเฉลี่ยของเด็กต่ำมาก ยกตัวอย่าง คะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ ม.6 อยู่ที่ 20.48% ภาษาอังกฤษอยู่ที่ 25.35% ทั้ง ๆ ที่เด็กเรียนกวดวิชากันแทบทุกคน การที่เด็ก ๆ ได้คะแนนเฉลี่ยเพียงเท่านี้เป็นเพราะอะไร
อาจารย์เกียรติวรรณเคยให้ความเห็นต่อปัญหานี้ว่ามี 2 ประเด็น
ประเด็นแรก ข้อสอบยากเกินไป โดยเฉพาะข้อสอบคณิตศาสตร์ PAT 1 ที่วัดความสามารถของเด็ก ๆ แทบไม่ได้ เพราะคนที่เดากลับได้คะแนนมากกว่า มีเด็กจำนวนมากที่หาคำตอบโดยไม่แกะข้อสอบออกมาดูเสียด้วยซ้ำ
ประเด็นที่สอง ข้อสอบไม่สมเหตุสมผล และคำตอบก็กำกวม จนกลายเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาเสียดสีในโลกออนไลน์แทบทุกครั้ง หลังจากเด็กสอบเสร็จ
อาจารย์เกียรติวรรณ เคยนำเสนอว่า ทางแก้ไข วิธีที่ง่าย สั้น และทำได้จริงที่สุด คือ
หนึ่ง ผู้มีอำนาจต้องรีบจัดการให้ปรับปรุงข้อสอบทุกระดับให้เหมาะสมอย่างเร่งด่วนที่สุด
ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ข้อสอบที่ไม่ดีพอ คือ สาเหตุสำคัญของปัญหาหลาย ๆ เรื่อง ตั้งแต่คะแนนตกต่ำ เด็ก ๆ กลายเป็นคนไม่พยายาม เพราะพยายามอย่างไรก็ตอบไม่ได้ เกิดโรงเรียนกวดวิชาเต็มบ้านเต็มเมือง ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หลาย ๆ บ้านค่ากวดวิชาแพงกว่าค่าเทอมในโรงเรียน ครอบครัวไม่เป็นครอบครัว ต้องตระเวนพากันออกนอกบ้านทั้งเสาร์อาทิตย์พาลูกไปกวดวิชา
สอง ก่อนนำข้อสอบจริงไปใช้กับเด็ก ๆ ทุกครั้ง ผู้บริหารระดับสูง รัฐบาลหรือคสช.ต้องตรวจตราและลองทำข้อสอบดูก่อน เพื่อจะทราบว่าเหมาะสมที่จะเป็นข้อสอบที่จะใช้วัดและสร้างคนรุ่นใหม่หรือไม่ ถ้าไม่ทดลองทำ ไม่มีทางสัมผัสได้ถึงปัญหาที่แท้จริง
นโยบายดี ๆ อยากให้เกิดค่ะ เพียงแต่อยากให้บูรณาการให้พร้อมเสียก่อน และแก้ปัญหาให้ตรงจุด
เรื่องลดข้อสอบปรนัยและเพิ่มข้อสอบอัตนัย โดยจะนำร่องวิชาภาษาไทย เพราะเจตนาอยากให้เด็กคิดวิเคราห์ได้ และจะได้รู้ว่าเด็กอ่านออกเขียนได้มากน้อยขนาดไหน
แต่ปัญหาที่ผ่านมา ข้อสอบโอเน็ตมีปัญหาอย่างที่อาจารย์เกียรติวรรณตั้งข้อสังเกตไว้จริง ๆ เราต้องยอมรับว่ามันยากและประหลาดอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญมันวัดความสามารถของเด็กได้ตรงประเด็นจริงหรือ
เคยมีนักวิชาการบางท่านถึงขนาดเสนอให้ยกเลิกการสอบโอเน็ตไปเลย เพราะเห็นปัญหาของมันชัดเจน ทั้งมาตรฐานของข้อสอบที่ไม่สอดคล้องกับการวัดมาตรฐานความรู้ของเด็กได้จริง
ปัญหาที่มีอยู่จึงไม่ใช่แค่ปรนัย หรืออัตนัย - แต่เป็นปัญหาทั้งระบบ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น