โดย...อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง การกำหนดวิชาในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดยปรับลดจำนวนวิชาที่ทดสอบลงจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็น 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ยังใช้ข้อสอบกลางได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งมีผลในปีการศึกษา 2558 (ผู้จัดการออนไลน์, 27 มิถุนายน 2558)
ปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นกระแสในแวดวงการศึกษาที่ก่อให้เกิดคำถามต่างๆ เป็นต้นว่า ทำไมถึงให้มีการสอบโอเน็ตเพียง 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จาก 8 กลุ่มสาระ ตามมาตรฐานของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 คำตอบส่วนหนึ่งที่ได้รับรู้ ระบุว่า มาตรการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ลดความเครียด และให้เด็กเสริมความแกร่งในทักษะด้านอื่นมากขึ้น และมีมาตรการจัดการใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เหลือ ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำหน้าที่ชี้แจงโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา ผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐและศึกษานิเทศก์ ให้โรงเรียนเป็นหน่วยงานทำการวัดผลและประเมินผลเอง ซึ่งสัดส่วนของการวัดผลและประเมินผลในกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 3 กลุ่มที่เหลือนี้ ไม่เน้นการทำข้อสอบ แต่เน้นให้มีการประเมินความรู้ กระบวนการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ควบคู่กันไป โดยแบ่งสัดส่วนคะแนนที่เน้นการปฏิบัติ สอดคล้องกับธรรมชาติของวิชา รวมทั้งให้ทำโครงงาน ภารกิจ หรือชิ้นงาน ซึ่งถือว่าเป็นการประเมินตามสภาพจริงแทน
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เปิดเผยผลการสอบโอเน็ตประจำปีการศึกษา 2557 เมื่อต้นปีพุทธศักราช 2558 ขอสรุปข้อมูลดังกล่าว เป็นตารางภาพรวมทั้งประเทศ ดังนี้
จากตาราง 1 สรุปผลการสอบโอเน็ตของระดับชั้นป. 6 ม. 3 และ ม. 6 ชี้ให้เห็นว่า ระดับชั้น ป. 6 มีผลการสอบโอเน็ตผ่าน 50% ใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ สังคมฯ สุขศึกษา และการงานฯ ซึ่งได้คะแนนแบบฉิวเฉียด แต่ในระดับชั้น ม. 3 มีผลการสอบโอเน็ตผ่าน 50% เพียงกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาเท่านั้น ส่วนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีผลการสอบโอเน็ตผ่าน 50% ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และสุขศึกษาที่ผ่านแบบคาบลูกคาบดอก
คำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นต่อการศึกษาไทย ในส่วนของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนผ่านการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน คือ เหตุปัจจัยอะไร ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเช่นนี้
ปัญหาผลการสอบโอเน็ตประจำปีการศึกษา 2557 ที่ทราบข้อมูลดิบแล้วนี้ ยังมีความสัมพันธ์กับผลการสอบโอเน็ตย้อนหลัง 2 ปี รวมเป็น 3 ปี (คือ ปีการศึกษา 2555 และ 2556) ซึ่งยังเป็นประเด็นให้ขบคิดว่า จะทำอย่างไร ให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนที่ผ่านการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน รักษาระดับให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานและยกระดับคุณภาพขึ้นให้สูงขึ้น
ในส่วนที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง การกำหนดวิชาในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดยปรับลดจำนวนวิชาที่ทดสอบลงจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้เป็น 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น ผู้เขียนเห็นว่ามาตรการนี้ มีความประสงค์ลดภาระเรื่องการเรียนที่ก่อให้เกิดความเครียดต่อนักเรียน ที่จะต้องสอบโอเน็ตทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จึงลดลงให้เหลือเพียง 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และอยากให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะความสามารถในด้านอื่น เป็นเจตนาที่ดี เพราะคิดถึงผู้เรียนเป็นหลัก แต่สิ่งที่จะต้องระมัดระวังถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่างๆ ที่มีต่อ (1) การใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (2) การใช้หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียน และ (3) ผลการใช้คะแนนโอเน็ตต่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งขอให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้
1. ผลกระทบจากการลดจำนวนวิชาในการทดสอบโอเน็ต โดยใช้ข้อสอบส่วนกลางจาก 8 กลุ่มสาระฯ ให้เหลือ 5 กลุ่มสาระฯ จะส่งผลข้างเคียงต่อการให้ความสำคัญใน 3 กลุ่มสาระฯ ที่ไม่มีการทดสอบโดยใช้ข้อสอบโอเน็ตของกลางของสถานศึกษาหรือไม่ อย่างไร เพราะ สพฐ. ประสงค์จะให้สถานศึกษาดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนใน 3 กลุ่มสาระแทนการทดสอบโอเน็ตจากส่วนกลาง
2. จากข้อที่ 1 การดำเนินงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ใน 5 กลุ่มสาระฯ ที่มีการจัดสอบโอเน็ต จะถูกให้ความสำคัญมากกว่า 3 กลุ่มสาระฯ ที่เหลือหรือไม่ อย่างไร ในสถานศึกษา เพราะธรรมชาติของการวัดผลและประเมินผล เมื่อมุ่งหมายในสิ่งใดเป็นสำคัญ การให้ น้ำหนัก เวลา และทรัพยากรต่างๆ จะมุ่งลงไปสู่สิ่งนั้นมากกว่าปกติ
3. จากข้อที่ 2 เจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ต้องการให้สถานศึกษาได้ดำเนินการใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อประสงค์ให้ผู้เรียน เป็นผู้มีความรู้ ทักษะ คุณลักษณะและมีทักษะทางภาษา ความสามารถในการคิด โดยเรียนรู้สาระหลักที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และสังคมศึกษา ส่วนอีก 4 กลุ่มสาระฯ ที่เหลือ คือ ศิลปะ สุขศึกษา การงานอาชีพฯ และภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ) เป็นวิชาเสริมสุนทรียภาพ เพื่อเติมเต็มศักยภาพบางประการ ดังนั้น วิธีคิดที่ลดข้อสอบโอเน็ตจาก 8 เหลือ 5 กลุ่มสาระ จะต้องไม่คลาดเคลื่อนจากเจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ของชาติ ซึ่งเป็นพิมพ์เขียว หรือแปลน สำหรับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้บรรลุจุดมุ่งหมาย หลักการ และคุณภาพผู้เรียนทั้ง 3 มิติสำคัญ คือ ความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
4. จากข้อที่ 3 ส่งผลให้การใช้หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียน ที่พัฒนาจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 อาจจะให้ความสำคัญกับ 3 กลุ่มสาระที่ไม่มีการทดสอบโอเน็ตน้อยลง นั่นหมายรวมไปถึงการควบคุมคุณภาพการดำเนินการทางวิชาการของสถานศึกษา ตามมาตรการทางวิชาชีพศึกษาศาสตร์ ที่จะต้องได้รับความเอาใจใส่ และสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสมดุลระหว่างธรรมชาติของศาสตร์ อัตรากำลังครู และความเปลี่ยนแปลงของความก้าวหน้าในศาสตร์นั้น
5. ผลการเปลี่ยนแปลง โดยปรับลดจำนวนวิชาที่ทดสอบโอเน็ตลงจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็น 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น ส่งผลให้เจตคติของครู นักเรียน ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกระดับ อย่างไร ที่เกี่ยวข้องกับความเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 มาเกือบ 10 ปีแล้ว รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงต่อการนำคะแนนโอเน็ตไปใช้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น จะยังคงใช้คะแนนโอเน็ตจาก 8 กลุ่มสาระฯ หรือ 5 กลุ่มสาระฯ หลักที่ใช้ข้อสอบโอเน็ตจากส่วนกลาง
6. ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะทั้ง 5 ข้อข้างต้นนี้ ผู้เขียนขอสรุปลงที่ มาตรการทางวิชาชีพศึกษาศาสตร์ ที่กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง และหน่วยงานบริหารการศึกษา อย่างเขตพื้นที่ฯ รวมทั้งสถานศึกษา ควรได้ตรวจสอบผลการดำเนินการ ว่า ปัจจัยใด ต่อไปนี้ที่ยังคงเป็นช่องว่างทางการศึกษา และจะต้องได้รับการพัฒนา ปรับปรุง เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง ในการขับเคลื่อนเพื่อรักษาและยกระดับคุณภาพผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนให้ดีขึ้น เพราะตราบใดที่ผู้เรียน จะต้องเข้ารับการทดสอบโอเน็ต ซึ่งถือว่า เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนผลการจัดการศึกษาของชาติ ตราบนั้นกระบวนการตามมาตรการทางวิชาชีพศึกษาศาสตร์ ก็จะต้องหมุนฟันเฟืองแห่งกลไกนี้ต่อไป
มาตรการทางวิชาศึกษาศาสตร์ ที่ควรใช้เป็นคำถามต่อการปฏิรูปการศึกษา ในประเด็นของการสอบโอเน็ต ได้แก่ 6 ปัจจัยสำคัญ ดังเสนอตามตาราง 2
จากตารางมาตรการทางวิชาชีพศึกษาศาสตร์ ทั้ง 6 ปัจจัยนี้ ศาสตราจารย์ชวาล แพรัตกุล กล่าวไว้ว่า ผู้เป็นครู และผู้บริหารการศึกษา จะต้องมีความรู้เรื่องปรัชญาการศึกษา มีความรู้เรื่องหลักสูตร มีความรู้เรื่องการเรียนการสอนและจิตวิทยาในการจัดการชั้นเรียน มีความรู้เรื่องการวัดผล และความรู้เรื่องเทคนิคการวิจัยที่เกิดขึ้นจากปัญหา หรือข้อเสนอแนะในการเรียนการสอนหรือผลการนิเทศทางการศึกษา อันจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนให้บรรลุเป้าหมาย และได้มาตรฐานตามที่หลักสูตรกำหนดไว้
ดังนั้น การลดข้อสอบโอเน็ตลง อาจจะช่วยคลี่คลายปัญหาเรื่องความทุกข์ในการศึกษาได้ระดับหนึ่ง หรือเฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง แต่การรักษากระบวนการผลิตที่ดี คือ กระบวนการบริหารงานวิชาการที่ดี ตามมาตรการทางวิชาชีพศึกษาศาสตร์ เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการศึกษา วิจัย ติดตาม ประเมิน ส่งเสริม และสร้างวัฒนธรรมคุณภาพไว้ในระบบการศึกษาที่ต้องการคุณภาพผู้เรียนมากกว่าปริมาณของผู้เรียน ที่สำเร็จการศึกษา หวังว่า ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเหล่านี้ อาจจะช่วยปิดช่องว่างที่ส่งผลต่อผลสอบโอเน็ตลงได้บ้างก็ได้ ถ้าลองย้อนกลับไปมองสภาพจริงที่กำลังดำเนินการกันอยู่ขณะนี้และต่อไป
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง การกำหนดวิชาในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดยปรับลดจำนวนวิชาที่ทดสอบลงจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็น 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ยังใช้ข้อสอบกลางได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งมีผลในปีการศึกษา 2558 (ผู้จัดการออนไลน์, 27 มิถุนายน 2558)
ปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นกระแสในแวดวงการศึกษาที่ก่อให้เกิดคำถามต่างๆ เป็นต้นว่า ทำไมถึงให้มีการสอบโอเน็ตเพียง 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จาก 8 กลุ่มสาระ ตามมาตรฐานของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 คำตอบส่วนหนึ่งที่ได้รับรู้ ระบุว่า มาตรการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ลดความเครียด และให้เด็กเสริมความแกร่งในทักษะด้านอื่นมากขึ้น และมีมาตรการจัดการใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เหลือ ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำหน้าที่ชี้แจงโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา ผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐและศึกษานิเทศก์ ให้โรงเรียนเป็นหน่วยงานทำการวัดผลและประเมินผลเอง ซึ่งสัดส่วนของการวัดผลและประเมินผลในกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 3 กลุ่มที่เหลือนี้ ไม่เน้นการทำข้อสอบ แต่เน้นให้มีการประเมินความรู้ กระบวนการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ควบคู่กันไป โดยแบ่งสัดส่วนคะแนนที่เน้นการปฏิบัติ สอดคล้องกับธรรมชาติของวิชา รวมทั้งให้ทำโครงงาน ภารกิจ หรือชิ้นงาน ซึ่งถือว่าเป็นการประเมินตามสภาพจริงแทน
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เปิดเผยผลการสอบโอเน็ตประจำปีการศึกษา 2557 เมื่อต้นปีพุทธศักราช 2558 ขอสรุปข้อมูลดังกล่าว เป็นตารางภาพรวมทั้งประเทศ ดังนี้
จากตาราง 1 สรุปผลการสอบโอเน็ตของระดับชั้นป. 6 ม. 3 และ ม. 6 ชี้ให้เห็นว่า ระดับชั้น ป. 6 มีผลการสอบโอเน็ตผ่าน 50% ใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ สังคมฯ สุขศึกษา และการงานฯ ซึ่งได้คะแนนแบบฉิวเฉียด แต่ในระดับชั้น ม. 3 มีผลการสอบโอเน็ตผ่าน 50% เพียงกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาเท่านั้น ส่วนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีผลการสอบโอเน็ตผ่าน 50% ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และสุขศึกษาที่ผ่านแบบคาบลูกคาบดอก
คำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นต่อการศึกษาไทย ในส่วนของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนผ่านการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน คือ เหตุปัจจัยอะไร ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเช่นนี้
ปัญหาผลการสอบโอเน็ตประจำปีการศึกษา 2557 ที่ทราบข้อมูลดิบแล้วนี้ ยังมีความสัมพันธ์กับผลการสอบโอเน็ตย้อนหลัง 2 ปี รวมเป็น 3 ปี (คือ ปีการศึกษา 2555 และ 2556) ซึ่งยังเป็นประเด็นให้ขบคิดว่า จะทำอย่างไร ให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนที่ผ่านการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน รักษาระดับให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานและยกระดับคุณภาพขึ้นให้สูงขึ้น
ในส่วนที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง การกำหนดวิชาในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดยปรับลดจำนวนวิชาที่ทดสอบลงจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้เป็น 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น ผู้เขียนเห็นว่ามาตรการนี้ มีความประสงค์ลดภาระเรื่องการเรียนที่ก่อให้เกิดความเครียดต่อนักเรียน ที่จะต้องสอบโอเน็ตทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จึงลดลงให้เหลือเพียง 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และอยากให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะความสามารถในด้านอื่น เป็นเจตนาที่ดี เพราะคิดถึงผู้เรียนเป็นหลัก แต่สิ่งที่จะต้องระมัดระวังถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่างๆ ที่มีต่อ (1) การใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (2) การใช้หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียน และ (3) ผลการใช้คะแนนโอเน็ตต่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งขอให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้
1. ผลกระทบจากการลดจำนวนวิชาในการทดสอบโอเน็ต โดยใช้ข้อสอบส่วนกลางจาก 8 กลุ่มสาระฯ ให้เหลือ 5 กลุ่มสาระฯ จะส่งผลข้างเคียงต่อการให้ความสำคัญใน 3 กลุ่มสาระฯ ที่ไม่มีการทดสอบโดยใช้ข้อสอบโอเน็ตของกลางของสถานศึกษาหรือไม่ อย่างไร เพราะ สพฐ. ประสงค์จะให้สถานศึกษาดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนใน 3 กลุ่มสาระแทนการทดสอบโอเน็ตจากส่วนกลาง
2. จากข้อที่ 1 การดำเนินงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ใน 5 กลุ่มสาระฯ ที่มีการจัดสอบโอเน็ต จะถูกให้ความสำคัญมากกว่า 3 กลุ่มสาระฯ ที่เหลือหรือไม่ อย่างไร ในสถานศึกษา เพราะธรรมชาติของการวัดผลและประเมินผล เมื่อมุ่งหมายในสิ่งใดเป็นสำคัญ การให้ น้ำหนัก เวลา และทรัพยากรต่างๆ จะมุ่งลงไปสู่สิ่งนั้นมากกว่าปกติ
3. จากข้อที่ 2 เจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ต้องการให้สถานศึกษาได้ดำเนินการใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อประสงค์ให้ผู้เรียน เป็นผู้มีความรู้ ทักษะ คุณลักษณะและมีทักษะทางภาษา ความสามารถในการคิด โดยเรียนรู้สาระหลักที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และสังคมศึกษา ส่วนอีก 4 กลุ่มสาระฯ ที่เหลือ คือ ศิลปะ สุขศึกษา การงานอาชีพฯ และภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ) เป็นวิชาเสริมสุนทรียภาพ เพื่อเติมเต็มศักยภาพบางประการ ดังนั้น วิธีคิดที่ลดข้อสอบโอเน็ตจาก 8 เหลือ 5 กลุ่มสาระ จะต้องไม่คลาดเคลื่อนจากเจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ของชาติ ซึ่งเป็นพิมพ์เขียว หรือแปลน สำหรับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้บรรลุจุดมุ่งหมาย หลักการ และคุณภาพผู้เรียนทั้ง 3 มิติสำคัญ คือ ความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
4. จากข้อที่ 3 ส่งผลให้การใช้หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียน ที่พัฒนาจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 อาจจะให้ความสำคัญกับ 3 กลุ่มสาระที่ไม่มีการทดสอบโอเน็ตน้อยลง นั่นหมายรวมไปถึงการควบคุมคุณภาพการดำเนินการทางวิชาการของสถานศึกษา ตามมาตรการทางวิชาชีพศึกษาศาสตร์ ที่จะต้องได้รับความเอาใจใส่ และสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสมดุลระหว่างธรรมชาติของศาสตร์ อัตรากำลังครู และความเปลี่ยนแปลงของความก้าวหน้าในศาสตร์นั้น
5. ผลการเปลี่ยนแปลง โดยปรับลดจำนวนวิชาที่ทดสอบโอเน็ตลงจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็น 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น ส่งผลให้เจตคติของครู นักเรียน ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกระดับ อย่างไร ที่เกี่ยวข้องกับความเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 มาเกือบ 10 ปีแล้ว รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงต่อการนำคะแนนโอเน็ตไปใช้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น จะยังคงใช้คะแนนโอเน็ตจาก 8 กลุ่มสาระฯ หรือ 5 กลุ่มสาระฯ หลักที่ใช้ข้อสอบโอเน็ตจากส่วนกลาง
6. ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะทั้ง 5 ข้อข้างต้นนี้ ผู้เขียนขอสรุปลงที่ มาตรการทางวิชาชีพศึกษาศาสตร์ ที่กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง และหน่วยงานบริหารการศึกษา อย่างเขตพื้นที่ฯ รวมทั้งสถานศึกษา ควรได้ตรวจสอบผลการดำเนินการ ว่า ปัจจัยใด ต่อไปนี้ที่ยังคงเป็นช่องว่างทางการศึกษา และจะต้องได้รับการพัฒนา ปรับปรุง เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง ในการขับเคลื่อนเพื่อรักษาและยกระดับคุณภาพผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนให้ดีขึ้น เพราะตราบใดที่ผู้เรียน จะต้องเข้ารับการทดสอบโอเน็ต ซึ่งถือว่า เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนผลการจัดการศึกษาของชาติ ตราบนั้นกระบวนการตามมาตรการทางวิชาชีพศึกษาศาสตร์ ก็จะต้องหมุนฟันเฟืองแห่งกลไกนี้ต่อไป
มาตรการทางวิชาศึกษาศาสตร์ ที่ควรใช้เป็นคำถามต่อการปฏิรูปการศึกษา ในประเด็นของการสอบโอเน็ต ได้แก่ 6 ปัจจัยสำคัญ ดังเสนอตามตาราง 2
จากตารางมาตรการทางวิชาชีพศึกษาศาสตร์ ทั้ง 6 ปัจจัยนี้ ศาสตราจารย์ชวาล แพรัตกุล กล่าวไว้ว่า ผู้เป็นครู และผู้บริหารการศึกษา จะต้องมีความรู้เรื่องปรัชญาการศึกษา มีความรู้เรื่องหลักสูตร มีความรู้เรื่องการเรียนการสอนและจิตวิทยาในการจัดการชั้นเรียน มีความรู้เรื่องการวัดผล และความรู้เรื่องเทคนิคการวิจัยที่เกิดขึ้นจากปัญหา หรือข้อเสนอแนะในการเรียนการสอนหรือผลการนิเทศทางการศึกษา อันจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนให้บรรลุเป้าหมาย และได้มาตรฐานตามที่หลักสูตรกำหนดไว้
ดังนั้น การลดข้อสอบโอเน็ตลง อาจจะช่วยคลี่คลายปัญหาเรื่องความทุกข์ในการศึกษาได้ระดับหนึ่ง หรือเฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง แต่การรักษากระบวนการผลิตที่ดี คือ กระบวนการบริหารงานวิชาการที่ดี ตามมาตรการทางวิชาชีพศึกษาศาสตร์ เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการศึกษา วิจัย ติดตาม ประเมิน ส่งเสริม และสร้างวัฒนธรรมคุณภาพไว้ในระบบการศึกษาที่ต้องการคุณภาพผู้เรียนมากกว่าปริมาณของผู้เรียน ที่สำเร็จการศึกษา หวังว่า ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเหล่านี้ อาจจะช่วยปิดช่องว่างที่ส่งผลต่อผลสอบโอเน็ตลงได้บ้างก็ได้ ถ้าลองย้อนกลับไปมองสภาพจริงที่กำลังดำเนินการกันอยู่ขณะนี้และต่อไป