xs
xsm
sm
md
lg

รักษายากกว่าเอดส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิมิตร์  เทียนอุดม
ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยผลการสำรวจทัศนคติ ความคิดของประชาชนเรื่อง “การตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในสังคมไทย” พบว่า คนไทยยังมีความกลัว รังเกียจ และกีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงถึงร้อยละ 48.9 สอดคล้องกับผลการสำรวจอีกข้อหนึ่งที่พบว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มีแนวโน้มที่จะไม่บอกคนในครอบครัวว่าตนเองติดเชื้อหรือป่วย สูงขึ้นเป็นร้อยละ 28.9 จากเดิมปี 2557 ที่ ร้อยละ 9.1 นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยถึงร้อยละ 80.4 ไม่รู้ว่าเมื่อติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แล้ว ทุกคนมีสิทธิ์จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ฟรี

ปัจจุบัน ประมาณการว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยราว 5 แสนคน ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อที่อยู่กับระบบการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัส เกือบ ๆ 3 แสนคน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะเหมือนคนอื่น ๆ ที่แข็งแรง ดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ดังนั้น สิ่งที่ได้ยินและเป็นเรื่องทุกข์ของคนเหล่านี้ คือ ต้องการออกไปหางานทำ ต้องการช่วยเหลือตนเองและครอบครัว ไม่ต้องการเป็นภาระของใคร แต่พวกเขากลับพบข้อจำกัดที่ถูกสร้างขึ้นจากทัศนคติของนายจ้าง คือ การขอดูผลตรวจเลือดเอชไอวีเวลาสมัครงาน หรือตอนรับเข้าทำงานไม่ดูแต่ไปขอตรวจหลังจากทำงานไปแล้วสักพักโดยอ้างว่าเป็นนโยบายของบริษัท

ผมพยายามหาสาเหตุที่นายจ้าง กำหนดให้มีการตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงานนั้นว่าเกิดจากอะไร เช่นกลัวว่าจะมีการแพร่กระจายเชื้อในที่ทำงาน กลัวว่าคนนั้นจะทำงานให้ไม่ได้ กลัวว่าจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล หรือกลัวว่าลูกค้ารู้แล้วจะไม่มาใช้บริการ เพื่อที่จะได้ช่วยกันทำความเข้าใจ

หลายครั้งเราพบว่า ความกลัวนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ เช่น กลัวว่า ทำงานด้วยกัน ใช้อุปกรณ์สำนักงานด้วยกันจะทำให้ติดเชื้อ บริษัทที่ผลิตอาหารอ้างว่า เชื้อเอชไอวีของพนักงานอาจจะปนเปื้อนในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของการผลิตและอาจส่งต่อเชื้อไปยังผู้บริโภค ซึ่งต้องบอกว่าความกลัวเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้เลย ในโลกนี้ไม่มีใครติดเชื้อเอชไอวีจากการอยู่ร่วมกันหรือการกินอาหารที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ (แต่แหม...ถ้าโรงงานของท่านมีสารปนเปื้อนในสายพานการผลิตอาหารแปลว่ากระบวนการผลิตของท่านไม่ได้มาตรฐานนะครับ)

หากเกรงว่า คนเหล่านี้จะไม่แข็งแรง ไม่สามารถทำงานได้ตามมาตรฐานหลักเกณฑ์ของโรงงาน ก็ขอให้พิสูจน์กันครับว่าการมีเชื้อเอชไอวีเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือเปล่า เพราะประสบการณ์เราพบว่าไม่ว่าจะงานอะไร งานที่ต้องใช้แรง ใช้กำลังในการแบกหาม หรืองานที่ต้องทำโอทีหามรุ่งหามค่ำ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็ทำได้ไม่ต่างจากคนอื่น

ส่วนความกลัวว่ารับเข้าทำงานแล้วจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา ก็ไม่ต้องกังวล เพราะปัจจุบัน ระบบประกันสังคมครอบคลุมการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์อยู่แล้ว ไม่มีการเก็บเงินเพิ่มจากนายจ้างหรือลูกจ้างแน่ ๆ

ในการทำงานเรื่องเอดส์ ผมคิดว่าเราผ่านเรื่องยาก ๆ มามาก ตั้งแต่การลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนที่พุ่งสูงมากให้ลดลงอย่างรวดเร็ว การหยุดการเสียชีวิตราวกับใบไม้ร่วงของผู้ป่วยเอดส์จนแทบเป็นศูนย์ในปัจจุบันอันเนื่องมาจากการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งยาต้านไวรัสในระบบหลักประกันสุขภาพ คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า หากเราจะมาสะดุดที่เรื่องการกีดกันผู้ติดเชื้อให้ไม่ได้รับโอกาสเหมือนกับคนอื่น ๆ ในสังคม

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่ อยู่ในวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน วัยก่อร่างสร้างตัว บางคนชีวิตสะดุด เพราะว่าป่วยและรู้ว่าติดเชื้อ...แต่พวกเขาเหล่านั้น ก็สู้กับความเจ็บป่วยและพยายามรักษาตัวเอง มีวินัยในการกินยา จนกลับมามีสุขภาพดีเหมือนเดิม แต่ที่พวกเขายังจัดการไม่ได้ คือการหางานทำ หาหน่วยงาน หรือโรงงานที่ไม่ตรวจเลือดเอชไอวีก่อนทำงาน

ผมคิดว่าเราทุกคนสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันได้ ถ้าเราจะช่วยกันสร้าง แต่หากคิดว่า ไม่ใช่เรื่องของฉัน ฉันไม่เกี่ยว เราก็จะอยู่ร่วมกันด้วยความกลัวไปตลอดซึ่งไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น

เอดส์รักษาได้...อย่าให้ความคิด ความเชื่อของเราที่มีต่อเรื่องเอดส์ รักษายาก...นะครับ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น