รอยเตอร์ - องค์การอนามัยโลกประกาศให้ไลบีเรียเป็นดินแดนปลอดเชื้ออีโบลาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันพฤหับดี (3 ก.ย.) เข้าสู่ช่วงเวลา 90 วันแห่งการเฝ้าระวังขั้นสูงสุดซึ่งมีเป้าหมายป้องกันไม่ให้ไวรัสมรณะชนิดนี้โผล่ขึ้นมาอีก
มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 11,000 คนในแอฟริกาตะวันตก นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของอีโลบาครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยพบมาเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 18 เดือนก่อน
ไลบีเรีย เป็นชาติซึ่งได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด ด้วยมียอดผู้เสียชีวิต 4,800 ราย อย่างไรก็ตาม พวกเขาใกล้ประสบความสำเร็จในการควบคุมการอีโบลาได้แล้ว ผิดกับกินีและเซียร์ราลีโอน 2 ชาติเพื่อนบ้านที่ยังคงต้องพยายามหาทางยุติวิกฤตการแพร่ระบาด
“องค์การอนามัยโลกขอประกาศให้ไลบีเรียเป็นชาติที่ปราศจากการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในหมู่ประชากรมนุษย์” หน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติบอกในถ้อยแถลง พร้อมระบุว่าช่วง 42 วัน หรือ 2 เท่าของระยะฟักตัวสูงสุดของไวรัส ผ่านพ้นไปแล้วนับตั้งแต่มีการยืนยันว่าผู้เข้ารับการรักษาตัวจนหาย มีผลตรวจหาเชื้อออกมาเป็นลบในวันที่ 22 กรกฎาคม
อย่างไรก็ตามดอคเตอร์ฟรานซิส คาเตช์ รองหัวหน้าทีมตอบสนองอีโบลาของไลบีเรีย แถลงว่าไลบีเรียจะยังคงเฝ้าระวังขั้นสูงต่อไป
ไลบีเรียเคยได้รับการประกาศเป็นดินแดนปลอดเชื้ออีโบลามาแล้วในเดือนพฤษภาคม แต่กลับพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีกในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งรวมแล้วมีทั้งหมด 6 คนด้วยกัน “วันนี้เป็นวันแห่งการฉลอง แต่เราไม่ควรลืมกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้” คาเตช์กล่าว “ตราบใดที่ยังพบเห็นการติดเชื้อระดับอนุภูมิภาค เราก็ยังไม่ปลอดเชื้อโดยสิ้นเชิง”
นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า การติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ ดูเหมือนจะเป็นคำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับการหวนคืนของอีโบลาในไลบีเรีย เนื่องจากไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ในอสุจิเกินกว่าระยะฟักตัวปกติ 21 วัน
ในเซียร์ราลีโอน ศพของผู้หญิงคนหนึ่งที่เสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ (29 ส.ค.) มีผลตรวจอีโบลาเป็นบวก ไม่ถึงสัปดาห์หลังจากบุคคลหนึ่งที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นคนสุดท้ายซึ่งติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องให้วัคซีนกับคนอื่นๆ ราว 200 คนที่สัมผัสทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับสตรีคนดังกล่าว