xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจพบ “น้ำปลา-ซอส-ซีอิ๊ว” เกิน 50% ใส่ไอโอดีนมั่ว เสี่ยงสุขภาพเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมวิทย์ตรวจ น้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว ทั้งที่จำหน่ายและผลิตจากโรงงาน เฉลี่ยเกิน 50% ปริมาณไอโอดีนไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด พบทั้งสูงเกินไปและไม่ต่ำเกินไป ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ชี้รับไอโอดีนน้อย ร่างกายพัฒนาช้า ได้รับมากเกินไปทำไทรอยด์เป็นพิษ

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังคุณภาพของเกลือและผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่จำหน่ายและผลิตในประเทศ ตั้งแต่ปี 2555 - 2558 ได้สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ปรุงรสทั้งหมด 383 ตัวอย่าง แยกเป็น น้ำปลาแท้ น้ำปลาผสม ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว และอื่น ๆ คือ ซีอิ๊วดำเค็ม/หวาน และซีอิ๊วดิบ โดยพบว่า น้ำปลาแท้มีปริมาณไอโอดีนไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 46.7 น้ำปลาผสม ร้อยละ 60.9 ซอสปรุงรส ร้อยละ 58.9 ซีอิ๊วขาว ร้อยละ 49.0 และ อื่น ๆ ร้อยละ 86.7 โดยมีตั้งแต่ไม่พบปริมาณไอโอดีนจนถึงพบปริมาณไอโอดีนสูงถึง 81.4 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่น้อยกว่า 2 มิลลิกรัม และไม่เกิน 3 มิลลิกรัมต่อลิตร อย่างไรก็ตาม ปี 2558 พบว่า สถานการณ์ปริมาณไอโอดีนเกินกว่ากฎหมายกำหนดมีแนวโน้มดีขึ้น และปริมาณสูงสุดที่พบต่ำลงเหลือเพียง 6.2 มิลลิกรัมต่อลิตร

นพ.อภิชัย กล่าวว่า ส่วนการสำรวจปริมาณไอโอดีนในผลิตภัณฑ์ปรุงรส โดยเก็บตรงจากโรงงานผู้ผลิตก่อนออกสู่ท้องตลาด 136 โรงงานจาก 26 จังหวัด จำนวน 300 ตัวอย่าง แยกเป็นน้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว และซีอิ๊วดำเค็ม/หวาน พบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีปริมาณไอโอดีนไม่ได้มาตรฐานเฉลี่ยร้อยละ 56 และพบว่ามีปริมาณไอโอดีนสูงสุดถึง 75.2 มิลลิกรัมต่อลิตรในน้ำปลาแท้

จากข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่จำหน่ายและผลิตจากโรงงาน ยังมีปริมาณไอโอดีนไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจำนวนนี้เป็นผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่มีปริมาณไอโอดีนสูงเกินไปครึ่งหนึ่ง และต่ำเกินไปอีกครึ่งหนึ่ง ทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะได้รับปริมาณไอโอดีนมากไป หรือน้อยไป ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขในทุกรูปแบบและมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง” นพ.อภิชัย กล่าวและว่า สารไอโอดีนมีความจำเป็นผลต่อสุขภาวะและสติปัญญาของมนุษย์ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หากมารดาได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอจะมีผลต่อการพัฒนาเซลส์สมองของทารก ส่วนเด็กวัยเรียน หากขาดสารไอโอดีนจะทำให้เรียนรู้ช้า พัฒนาการไม่สมวัย ขณะที่ผู้ใหญ่หากได้รับไอโอดีนไม่พอเพียงจะอ่อนเพลียง่าย ขาดความกระปรี้กระเปร่า ทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง ทั้งนี้ หากร่างกายได้รับปริมาณไอโอดีนมากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์เกิน หรือไทรอยด์เป็นพิษ โดยคนปกติปริมาณไอโอดีนที่แนะนำต่อวันคือ 150 ไมโครกรัม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น