xs
xsm
sm
md
lg

อยู่อย่างไรให้ห่างไกลโรคไต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พ.ญ. ธนันดา ตระการวนิช
หน่วยโรคไต คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

เมื่อพูดถึงโรคไต คนส่วนใหญ่มักจะกลัวเพราะมีความเชื่อว่า “ไตวายจะตายไว” ทั้งนี้ คงมีคนเคยเห็นผู้ที่ต้องทำการบำบัดทดแทนไต ที่ต้องสิ้นเปลืองเงินทอง เสียเวลา ต้องรับประทานยา และฉีดยาหลายขนาน แท้ที่จริงแล้วโรคไตมีหลายชนิด เป็นทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง บางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น ไตอักเสบเฉียบพลัน การติดเชื้อในกรวยไต หรือ ไตวายเฉียบพลัน แต่บางโรคถ้าไม่หายคือโรคไตวายเรื้อรัง จะ ต้องทำการบำบัดทดแทนไตหรือที่เรียกว่า “ไตเทียม” หรือแม้แต่ต้องใส่ไตใหม่เข้าไปทำงานแทน หรือการ ”ปลูกถ่ายไต” นั่นเอง

สถานการณ์ผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทย พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกปีมีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 10 - 17 สาเหตุอีกประการหนึ่ง คือ โรคที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรัง เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูงก็มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนฟอกเลือดทางเครื่องไตเทียมและล้างไตทางช่องท้องผ่านทางโครงการประกันสุขภาพแห่งชาติ รวม 40,000 กว่ารายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นจึงควรป้องกันการเกิดไตวาย หรือชะลอการเสื่อมให้ช้าที่สุด

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคไต คือ ผู้ที่มีประวัติโรคไตในครอบครัว เบาหวาน ซึ่งเบาหวานถือว่าเป็นต้นเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด นอกจากนั้น ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกได้แก่ ความดันโลหิตสูง การรับประทานยาแก้ปวดเวลานาน โรคแพ้ภูมิตัวเอง รวมทั้งการรับประทานอาหารรสเค็มจัด

เมื่อเกิดโรคไตเรื้อรังแล้ว เซลล์ของไตจะถูกทำลายอย่างช้าๆ ดัชนีที่ใช้บอกค่าการทำงานของไต คือ ค่าครีอะตินินจะค่อย ๆ สูงขึ้นเรื่อง ๆ จากค่าปกติ ที่มีค่าประมาณ 1.2 มก/ดล. อาจสูงจนถึง 10 มก./ดล. ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ป่วยต้องเริ่มการบำบัดแทนไต เนื้อไตที่ถูกทำลายไปมีผลให้ไตเสื่อมขึ้นไม่อาจทำให้กลับคืนเป็นปกติได้ แต่การดูแลที่ถูกต้องจะชะลอการถูกทำลายของเนื้อไตได้ โดยมีทั้งการใช้ยาและอาหารบำบัด ยิ่งเริ่มต้นเร็วตั้งแต่ไตเสื่อมน้อยเท่าไร ก็จะยังได้ผลช่วยชะลอการเสื่อมของไตไว้ได้ดีเท่านั้น ช่วยให้การเข้าสู่ระยะการฟอกเลือดช้าลง ชีวิตยืนยาวนาน

แนวทางการชะลอการเสื่อมของไต คือ ควบคุมความดันโลหิตสูงเกิน 140/90 มม. ปรอท ทั้งด้วยยาและการลดเค็ม งดสูบบุหรี่เหล้า กาแฟ จำกัดโซเดียมน้อยกว่า 2 กรัม/วัน (เท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา) ผู้ที่มีเบาหวานร่วมด้วย จะต้องคุมน้ำตาลให้น้อยกว่า 120 มก./ดล. จัดอาหารเพื่อบำบัดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาหารโปรตีนต่ำจะช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้ อาหารบางอย่างปลอดโปรตีนสามารถรับประทานได้มาก และให้พลังงานเพียงพอด้วย เช่น แป้ง ถั่วเขียว ก๋วยเตี๋ยว เซี่ยงไฮ้ ซ่าหริ่ม ตัวตะโก้ สาคู ถ้าไตเสื่อมมากอาจต้องงดผลไม้เพราะมีโปตัสเซียมสูง งดนม เต้าหู้ ไข่แดง เพราะมีฟอสฟอรัส และต้องคุมการดื่มน้ำด้วย เพราะอาจมีอาการบวมร่วมด้วย งดการใช้ซอสปรุงรส งดเครื่องปรุงรสที่มีเกลือมาก ผักผลไม้ดองเค็ม ไส้กรอก ไส้อั่ว กุนเชียง ไข่เค็ม ปลาเค็ม การใช้ยา (โดยแพทย์จะเป็นผู้สั่ง) กลุ่มเอซีอีไอ หรือ เออาร์บี จะช่วยชะลอการเสื่องของไตได้ แต่ต้องระวังผลข้างเคียงเรื่องโปตัสเซียมสูงด้วย

ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน เรื่องภัยจากโรคไต โดยได้จัดงานวันไตโลกเป็นประจำทุกปีในเดือนมีนาคม เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมาตรวจสุขภาพไต ได้แก่ เจาะเลือดดูค่าการทำงานของไต ตรวจปัสสาวะดูว่ามีไข่ขาวรั่วหรือไม่ และวัดความดันโลหิต แต่เนื่องจากเป็นการจัดปีละ 1 ครั้ง ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงจะจัดโครงการให้ความรู้สู่ประชาชน เผยแพร่ความรู้ในด้านการป้องกันโรคไต ต่อเนื่องอีก โดยมีการจัดงานครั้งแรกที่ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 เวลา 9.00 - 12.00 น. ณ ชั้น 6 อาคารเพชรรัตน์ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมโรคไต อาทิเช่น พญ.ธนันดา ตระการวนิช ประธานอนุกรรมการให้ความรู้สู่ประชาชน จากหน่วยโรคไต คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พล.อ.ต.อนุตตร จิตตินันท์, ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นพ.อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์,`นพ.สาธิต คูระทอง จึงขอเชิญประชาชน และผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมนี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในงานจะมีการบรรยาย การแสดงนิทรรศการ ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไต แนะนำอาหารที่ควรรับประทาน ถามตอบปัญหาโรคไตโดยแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ แจกหนังสือความรู้สู่ประชาชน นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนจะได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคไตอย่างเต็มที่

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น