xs
xsm
sm
md
lg

รมว.สธ.สั่ง อย.ลุยตั้งองค์กรตรวจวิเคราะห์ “ยา - เวชภัณฑ์” ก่อนขึ้นทะเบียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.สธ. สั่ง อย. ลุยตั้ง องค์กรมหาชนวิเคราะห์ “ยา - เวชภัณฑ์” ก่อนขึ้นทะเบียน เรียกเก็บเงินค่าตรวจวิเคราะห์ได้ แต่ยอมรับขั้นตอนยังใช้เวลาเป็นปี จี้ดูงานประเทศใกล้เคียง ทำคู่ขนานระหว่างรอกฎหมายคลอด ด้านเลขาธิการ อย. ชี้ เก็บเงินค่าตรวจวิเคราะห์ช่วยมีรายได้เพิ่ม 180 ล้านบาท ใช้จ้างผู้เชี่ยวชาญ ทำให้การตรวจวิเคราะห์รวดเร็ว

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้ อย. ได้เสนอให้มีการตั้งสถาบันตรวจและประเมินผลิตภัณฑ์สุขภาพ (องค์กรมหาชน) เพื่อทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานด้านนี้ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างที่ขอขึ้นทะเบียน โดยองค์กรดังกล่าวจะสามารถเรียกเก็บค่าตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ที่มาขอขึ้นทะเบียนได้ จากเดิมที่กฎหมายไม่ได้ระบุให้เก็บเงิน จนต้องใช้เงินของประชาชนมาสนับสนุน ทั้งที่ อย. ของประเทศทั่วโลกเก็บกันหมด เบื้องต้นอัตราที่เรียกเก็บจะคำนวณจากอัตราที่ประเทศแถบเพื่อนบ้านเรียกเก็บ ซึ่งมีตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท โดย อย. เสนอเรื่องไปที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) แล้ว ตั้งแต่สมัย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็น รมว.สาธารณสุข

เดิมไม่มีการเก็บค่าตรวจวิเคราะห์ ทำให้มีปัญหาว่าเมื่อได้รับใบอนุญาตไปแล้วกลับไม่ได้ผลิตจริง ซึ่งจากที่มีการขึ้นทะเบียนประมาณ 20,000 ตำรับ มีการผลิตจริงอยู่ประมาณ 10,000 ตำรับเท่านั้น แต่ถ้ามีการตั้งสถาบันดังกล่าว จะเริ่มตรวจวิเคราะห์ในยาและเครื่องมือแพทย์ก่อน ซึ่งจากการคำนวณพบว่าจะทำให้มีรายได้เข้ามาประมาณ 180 ล้านบาท ตรงนี้ก็จะได้เอาไปจ้างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจวิเคราะห์เพิ่ม การอนุญาตทะเบียนตำรับยาก็จะทำได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นพ.บุญชัย กล่าว

ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ตนเห็นด้วยและจะผลักดันเรื่องนี้แน่นอน เพราะจะเห็นว่าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จะมี อย. เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ รวมถึงเรื่องยาเสพติด ดังนั้น จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเป็นคอขวด เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับประเทศจะต้องมีการตรวจสอบ และอนุญาตในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่เห็นเรื่องนี้ส่งเข้ามาที่ตน แต่ถ้ามาถึงแล้วจะเร่งส่งเรื่องให้ เพราะเป็นนโยบายที่น่าจะทำ ทั้งนี้ แม้ตนจะเห็นชอบและลงนามแล้ว แต่ตามกระบวนการอาจจะต้องรอเป็นปี แต่ไม่อยากให้ อย. รอ ควรเดินหน้าเรื่องนี้ทันที ไปดูว่าที่ญี่ปุ่น ไต้หวันเขาทำอย่างไร เป็นการทำคู่ขนานระหว่างรอการออกกฎหมาย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น