xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวเงินหนุนกิจกรรม อภ.เยียวยาบุคลากร สธ.เจ็บขณะทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บอร์ด สปสช. เห็นชอบใช้เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐของ อภ. ช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขได้รับความเสียหายจากการทำหน้าที่ ระหว่างรอแก้กฎหมายเพื่อรองรับ เผยข้อมูล 5 ปี มีผู้ให้บริการได้รับการช่วยเหลือเฉลี่ย 500 รายต่อปี ใช้งบเพียงกว่า 4 ล้านบาทต่อปี

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา มีมติต่อเรื่องคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ท้วงติง สปสช. ว่า ไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ให้บริการ เนื่องจากไม่มีกฎหมายระบุที่ชัดเจน ส่งผลให้ต้องชะลอจ่ายเงินดังกล่าวให้กับผู้ให้บริการที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการในช่วงระหว่างแก้ไขกฎหมายรองรับ โดยเห็นชอบให้ใช้เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) สำหรับดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเยียวยา ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ได้หารือร่วมกับ สปสช.

บอร์ด สปสช. เห็นตรงกันว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่บุคลากรสาธารณสุขมีความจำเป็น และส่งผลทำให้เกิดการบริการและความเข้าใจที่ดีภายในระบบบริการสาธารณสุข ส่วนเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐของ อภ. สามารถนำมาใช้ได้ เพราะเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ ว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ พ.ศ. 2557 ในข้อที่ 6 (5) การพัฒนาด้านการให้บริการและอื่น ๆ ที่คณะกรรมการเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อหน่วยบริการ หรือบุคลากรของหน่วยบริการ หรือประชาชนผู้มารับบริการ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท โดยอ้างอิงภาพรวมการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ให้บริการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น การเสียชีวิตของเจ้าพนักงานฉุกเฉิน รพ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ ที่ผ่านมา จากกรณีรถฉุกเฉินประสบอุบัติเหตุขณะนำส่งผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็จะได้รับการช่วยเหลือจากแหล่งเงินนี้ด้วย” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สำหรับข้อมูลการช่วยเหลือผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการบริการ ตั้งแต่ปี 2553 - 2557 มีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งสิ้น 2,576 ราย เฉลี่ยปีละ 500 ราย ในจำนวนนี้เป็นกรณีเสียชีวิต 10 ราย พิการ 7 ราย และบาดเจ็บ 2,559 ราย รวมเป็นเงินช่วยเหลือในช่วง 5 ปี ทั้งสิ้น 23,441,350 บาท เฉลี่ยปีละกว่า 4 ล้านบาท และในปี 2558 นี้ ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม มีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 314 ราย เป็นกรณีพิการ 2 ราย บาดเจ็บ 312 ราย เป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 3,283,000 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นสัดส่วนงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถือว่าน้อยมาก แต่สามารถคุ้มครองผู้ให้บริการในการทำหน้าที่ดูแลและรักษาผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น