สภาเภสัชกรรม ร่วม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จัดทำหลักสูตร “เภสัชกรสมุนไพร” หวังเพิ่มความรู้ด้านสมุนไพรให้เภสัชกร พร้อมจัดทำหลักสูตรปริญญาโทด้านเภสัชศาสตร์สมุนไพร หวังให้ความรู้การใช้สมุนไพรที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทำงานเชิงรุกเป็นเภสัชกรครอบครัว
ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้สภาเภสัชกรรม และ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกัน ในการจัดทำหลักสูตรเภสัชกรสมุนไพร เพื่ออบรมเพิ่มเติมด้านสมุนไพรให้กับเภสัชกร เนื่องจากปัจจุบันเภสัชกรที่ทำงานด้านสมุนไพรอยู่นั้น เป็นการทำงานที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวเป็นสำคัญ สภาเภสัชกรรมจึงเห็นว่าควรมีการฝึกอบรมเรื่องสมุนไพรให้กับเภสัชกรที่ทำงานเป็นเภสัชกรโรงพยาบาลและเภสัชกรชุมชน โดยคาดว่าจะเปิดอบรมรุ่นแรกในปี 2559 นำร่องเภสัชกรที่มีความสนใจประมาณ 100 - 200 คน โดยใช้เวลาอบรม 4 เดือนเช่นเดียวกับหลักสูตรที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมมือการอบรมอยู่แล้วในปัจจุบันกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และจะขยายไปมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วย
“ในอนาคตสภาเภสัชกรรมจะจัดทำงานหลักสูตรระดับปริญญาโทด้านเภสัชศาสตร์สมุนไพรด้วย เข้าใจว่าขณะนี้น่าจะอยู่ระหว่างการยกร่างหลักสูตร นอกจากนี้ จากการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายเรื่องหมอครอบครัว ก็จะมีการดำเนินการเรื่องเภสัชกรครอบครัวให้เป็นหนึ่งในทีมหมอครอบครัวด้วย เนื่องจากจะให้เภสัชกรทำงานตั้งรับอยู่ในสถานพยาบาลเพียงอย่างเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการใช้ยาสมุนไพร เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้อยู่ที่บ้าน” ภญ.ผกากรอง กล่าว
ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องมีเภสัชกรสมุนไพร คือ 1. การให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาสมุนไพรที่ไม่ถูกต้องและประชาชนยังเข้าใจผิด เช่น การระบุว่ายาลูกกลอนมีการผสมยาสเตียรอยด์ ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ใช่ยาลูกกลอนทั้งหมดที่จะมีการผสมยาสเตียรอยด์ แต่ประชาชนก็เข้าใจผิดไปแล้วว่ายาลูกกลอนอันตราย จึงจำเป็นต้องทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยการสร้างบุคลากรไปทำความเข้าใจ มิเช่นนั้น ยาลูกกลอนที่เป็นภูมิปัญญาไทยจะหายไป 2. อัตราการใช้ยาปัจจุบันควบคู่กับยาสมุนไพในโรงพยาบาลมีเพิ่มมากขึ้น และ 3. พบผลข้างเคียงจากการใช้ยาสมุนไพรอันเนื่องมาจากการใช้ที่ไม่ถูกต้อง และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่ไม่ใช่ว่าทั้งหมดจะไม่ดี มีแค่บางส่วนเท่านั้นที่ยังดำเนินการไม่ได้มาตรฐาน สภาเภสัชกรรมจึงต้องดำเนินการเพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่