นักวิชาการชี้ ออกกฎหมายเปิดโอกาสทำฟาร์มกัญชาเพื่องานวิจัยทางการแพทย์ ชี้ ปลูกกัญชาเป็นภูมิปัญญาไทย มีสรรพคุณหลายอย่าง ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้ อย. ชี้ ยังไม่มีการเสนอที่ประชุมยาเสพติด ให้ใช้กัญชาอย่างเสรี ระบุใบกระท่อมที่เคยเสนอก็ยังไร้ความคืบหน้า
ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวถึงข้อเสนอการเปิดให้ใช้กัญชาอย่างเสรีในไทย ว่า กัญชาจัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์มาก และประเทศไทยก็ใช้กันมานานในรูปแบบตำรับยา แต่เมื่อถูกกำหนดว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ จึงไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์อีก ซึ่งน่าเสียดาย ทั้งที่การปลูกกัญชาถือเป็นภูมิปัญญาไทย อย่างน้ำมันกัญชา หลายรัฐของสหรัฐอเมริกา มีการศึกษาว่าฆ่าเซลล์มะเร็งได้ แม้ในไทยจะยังไม่มีงานวิจัย แต่มีรายงานหลายชิ้นบอกว่า มีประสิทธิภาพเรื่องลดอาการปวด อาการทางสมอง จิตประสาท อาการสั่นในผู้ป่วยพาร์กินสัน หากเปิดทางให้สามารถวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จะมีประโยชน์มาก โดยควรมีกฎหมายในการเปิดโอกาสให้ปลูกกัญชา อาจทำเป็นฟาร์มกัญชาสำหรับทางการแพทย์ในการศึกษาวิจัย โดยมีการควบคุมและให้มีการวิจัยว่า ประโยชน์ทางการแพทย์มีอะไรบ้าง เพื่อเทียบเคียงกับต่างประเทศที่มีการศึกษาอยู่ ดีกว่าปล่อยทิ้ง ซึ่งน่าเสียดาย
“หากกัญชายังเป็นยาเสพติด นักวิจัยก็ศึกษาไม่ได้ ใบกระท่อมก็เช่นกัน มีการศึกษาในต่างประเทศว่าลดอาการปวดได้ดี หากมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังก็จะทำให้ประเทศไทย ใช้ประโยชน์จากพวกนี้ได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะหากไม่เปิดทางให้นักวิจัยมีอิสระในการศึกษา ผลการศึกษาก็จะออกมาไม่ได้” ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากจะเปิดเสรีกัญชาในทันทีคงจะไม่ได้ เพราะถือเป็นยาเสพติด แต่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม หากสามารถนำมาใช้ทางยาได้และมีประโยชน์ที่ชัดเจนก็ควรจะอนุญาตให้มีงานวิจัยและทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยา เพราะข้อมูลจากต่างประเทศ พบว่า มีข้อมูลวิชาการที่สำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะช่วยรักษาโรคที่ค่อนข้างร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง ภูมิแพ้ เป็นต้น หากได้ประโยชน์จริงก็ไม่ควรที่จะปิดกั้นผู้ป่วย และควรจะมีการอนุญาตให้เปิดศึกษาวิจัย และทดลองในคนไทยให้มีกฎระเบียบ เพราะกัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 คือ ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นติดมาก รวมถึงให้หน่วยราชการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ไม่ควรเก็บเรื่องนี้ไว้เฉย ๆ แล้วทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสต่อการเข้าถึงการรักษา และหากศึกษาแล้วว่าไม่ติดมากมาย หรือสามารถใช้ได้ภายในควรเรือน ก็ควรมีข้อกำหนดกติกาที่ชัดเจน
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า พืชที่ถูกจัดเป็นยาเสพติดมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)โดย อย. ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงมหาดไทย โดยอยู่ภายใต้การทำงานของ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งมีคณะกรรมการยาเสพติดฯ ทำงาน และมีคณะอนุกรรมการต่าง ๆ โดยที่ผ่านมามีประเด็นเรื่องใบกระท่อม แต่ก็ยังไม่มีข้อเสนอใด ๆ คืบหน้าเรื่องนี้ ดังนั้น ในเรื่องกัญชาก็ยังไม่มีการพูดถึงในการประชุมยาเสพติด แต่ทั้งหมดก็ต้องอยู่ที่นโยบายเป็นหลัก แต่ขณะนี้ยังไม่มี
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่