จิตแพทย์ห่วงคนไทยมีอาการขาดมือถือไม่ได้ “โนโมโฟเบีย” รู้สึกหงุดหงิด วิตกกังวลเมื่อไม่ได้เล่น ชี้พฤติกรรมเข้าข่าย เตือนใช้มือถือมากเสี่ยงปัญหาสุขภาพ ทั้งนิ้วล็อก สายตาเสื่อม หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพเร็ว อ้วน แนะวิธีป้องกัน สร้างวินัยการใช้มือถือ
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยนิยมใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน จนก่อให้เกิดอาการ “โนโมบายโฟนโฟเบีย (No Mobile Phone Phobia)” หรือเรียกว่า โมโนโฟเบีย คือ อาการขาดมือถือไม่ได้ จัดอยู่ในกลุ่มอาการวิตกกังวล เช่น ผู้ที่มีมือถือแต่ใช้การไม่ได้ เนื่องจากอยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณ หรือแบตเตอรีหมด จะรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย บางรายหากเป็นมาก อาจเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก และคลื่นไส้ได้ สำหรับข้อสังเกตของผู้ที่มีอาการโมโนโฟเบีย คือ มักพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา จะรู้สึกกังวลใจหากมือถือไม่อยู่กับตัว หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความ หรือข้อมูลในมือถือตลอดเวลา และดูโทรศัพท์บ่อย ๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วน เมื่อได้ยินเสียงเตือนเข้ามาจะวางงานเพื่อเช็กข้อความในมือถือทันที เล่นมือถือก่อนนอน หลังตื่นนอน หรือขณะทำกิจกรรมประจำวัน เช่น ทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ขับรถ หรือนั่งรถ ไม่เคยปิดมือถือ ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ตรงหน้า
“ พฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลกระทบการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่าง เช่น นิ้วล็อก สายตาเสื่อมเร็ว กล้ามเนื้อที่คอ บ่า ไหล่เกร็ง และปวดเมื่อย จากการก้มหน้าเพ่งจอเป็นเวลานาน และทำให้หมอนรองกระดูกที่คอเสื่อมก่อนวัยอันควร อาจทำให้เส้นประสาทสันหลังที่บริเวณส่วนคอ ถูกกดทับ เกิดอาการชาที่แขน มือไม่มีแรง หรือเดินโคลงเคลงเหมือนจะล้ม อาจเกิดโรคอ้วนได้ง่ายจากการนั่งอยู่กับที่นาน ๆ ” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การป้องกันโรคนี้ ต้องสร้างวินัยในการใช้มือถือ ควรใช้เท่าที่จำเป็น ทำกิจกรรมอื่นทดแทน เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ถ้ารู้สึกเหงาให้หาเพื่อนคุยแทนการสนทนาผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์ ตั้งกฎว่าจะไม่แตะต้องมือถือภายในเวลาที่กำหนดเช่น 30 นาที 1 ชั่วโมง แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาห่างมือถือให้มากขึ้น หรือกำหนดให้ห้องนอนเป็นเขตปลอดมือถือ ทั้งนี้ ผลสำรวจทั่วโลก พบว่า คนที่เกิดอาการโนโมโฟเบีย ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นมากกว่าวัยทำงาน เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่มีเพื่อนมาก ชอบเล่นเกม ชอบเที่ยว ชอบทำกิจกรรมมากมาย จึงส่งข้อมูลผ่านมือถือถึงกันบ่อย ๆ สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจของสมาคมโฆษณาดิจิตอลปี 2557 พบมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ 94.3 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 5.4 ล้านเครื่อง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่