xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ แห่งแรกในไทยร่วมพันธมิตรเครือข่ายมะเร็งระดับโลก ผุดงานวิจัยใหม่ ๆ รักษามะเร็งในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผ่านเกณฑ์ประเมินศูนย์มะเร็งเอ็มดีฯ เข้าร่วมเป็นสถาบันพันธมิตร เครือข่ายศูนย์มะเร็งชั้นนำระดับโลกเป็นแห่งแรกของไทย และอาเซียน ร่วมพัฒนางานอบรม วิจัย การรักษาป้องกันมะเร็ง เผยงานวิจัยร่วมมะเร็งท่อน้ำดี พบสหรัฐฯ รุนแรงและรักษายากกว่าไทย ชี้ใช้เป็นแนวทางพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

วันนี้ (27 ส.ค.) ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รศ.นพ.โศภณ นภาธร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.โอลิเวอร์ บ็อกเลอร์ รองประธานอาวุโส ศูนย์มะเร็ง เอ็ม ดี แอนเดอร์สัน ร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือเป็น “สถาบันพันธมิตร (Sister Institution)” ซึ่งถือเป็นเครือข่ายด้านมะเร็งวิทยาที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า สถาบันที่จะเข้าร่วมเป็นสถาบันพันธมิตรกับศูนย์มะเร็งเอ็ม ดี แอนเดอร์สัน จะต้องมีความพร้อมในทุกด้าน โดยมีเกณฑ์การพิจารณาอย่างเป็นระบบและเข้มงวด ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีสถาบันใดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนได้เข้าร่วมเป็นสถาบันพันธมิตรเลย

รศ.นพ.โศภณ กล่าวว่า ศูนย์มะเร็งเอ็ม ดี แอนเดอร์สัน เป็นสถาบันมะเร็งชั้นนำของโลก การเข้าร่วมเป็นสถาบันพันธมิตรถือว่าประเทศไทยได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะจะเกิดความร่วมมือทั้งด้านการศึกษาอบรม การวิจัยโรคมะเร็ง การรักษาและป้องกันมะเร็งต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของไทย และเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ซึ่งไม่เพียงแต่รวมมือกับศูนย์มะเร็งเอ็มดีฯเท่านั้น แต่ยังได้ร่วมกับสถาบันมะเร็งต่าง ๆ ทั่วโลกที่อยู่ในเครือข่ายด้วย เพราะการทำงานด้านมะเร็งไม่สามารถทำสำเร็จได้เพียงประเทศเดียว แต่ต้องร่วมมือกันในระดับนานาประเทศ ทั้งนี้ ก่อนเข้าร่วมจุฬาฯ ได้รับการตรวจประเมินในหลายมิติ ทั้งด้านบุคลากร สถานที่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งใช้เวลาประเมินกว่า 3 ปี ซึ่งผลประเมินถือเป็นที่น่าพอใจของศูนย์มะเร็งเอ็ม ดีฯ

“แม้จะมีการลงนามอย่างเป็นทางการในวันนี้ แต่ความร่วมมือเริ่มมีมาก่อนแล้ว เช่น จุฬาฯ ส่งอาจารย์แพทย์ไปฝึกอบรมแล้วประมาณ 5 คน ซึ่งจะมีการส่งพยาบาลไปอบรมอีก 2 - 3 คน สำหรับประเทศไทยเองก็มีเครือข่ายสถาบันการแพทย์ด้านมะเร็งเช่นกัน ซึ่งทางศูนย์มะเร็งเอ็มดีฯ ก็ได้พบกับเครือข่ายแล้วและมีความสนใจในสิ่งที่เครือข่ายมะเร็งของไทยได้ดำเนินการ ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์และเปิดโอกาสให้สถาบันการแพทย์ด้านมะเร็งวิทยาอื่น ๆ ในไทยมีโอกาสเข้าร่วมในการพัฒนาด้านวิชาการ และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ดีขึ้นต่อไป” รศ.นพ.โศภณ กล่าว

รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็งครบวงจร รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายปีก็มีการฝึกอบรมร่วมกันระหว่างจุฬาฯ และศูนย์มะเร็งเอ็มดีฯ โดยจุฬาฯ ได้รับการยอมรับในเรื่องของอาจารย์ใหญ่ที่มีสภาพยืดหยุ่นสมจริงในการใช้ฝึกผ่าตัด ก็มีการส่งผู้เชี่ยวชาญมาฝึกอบรมการผ่าตัดในไทย ส่วนจุฬาฯ ก็มีการส่งบุคลากรไปร่วมทำการวิจัย ซึ่งหลายชิ้นก็ได้รับการตีพิมพ์แล้ว เช่น งานวิจัยด้านมะเร็งทางนรีเวช มะเร็งเต้ามนม มะเร็งท่อน้ำดี เป็นต้น โดยเบื้องต้นเป็นผลการวิจัยเปรียบเทียบลักษณะมะเร็งของคนไทยกับสหรัฐฯ อย่างมะเร็งท่อน้ำดี พบว่า ไทยป่วยมากจากพยาธิใบไม้ตับ แต่สหรัฐฯ เกิดน้อย ซึ่งจากการศึกษาชิ้นเนื้อมะเร็งที่ทั่วไปมอง่าเหมือน ๆ กันนั้น เมื่อศึกษาลึกในระดับโมเลกุล ระดับยีนจะพบว่ามีความแตกต่างกัน โดยมะเร็งท่อน้ำดีของสหรัฐฯ มีความรุนแรงกว่า ดุร้ายกว่า รักษายากกว่าของไทย วิธีการผ่าตัดก็ต่างกัน โดยไทยมีการผ่าตัดมากกว่าและใช้เทคนิคการผ่าตัดที่หลากหลายกว่า เป็นต้น ซึ่งการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบก็ช่วยให้เกิดการพัฒนาการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น