xs
xsm
sm
md
lg

วอน “ปิยะสกล” ดันเพิ่มนักระบาด เดินหน้าเมกะโปรเจกต์ 2.6 พัน ล. ยกระดับคุมโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอปิยะสกล” ตรวจเยี่ยมฟังวิสัยทัศน์กรมควบคุมโรคแห่งแรก ย้ำงานระบาดวิทยาสำคัญ เป็นหัวใจการควบคุมโรคประเทศ ลั่นพร้อมดันแผนแก้ปัญหาที่เสนอ แต่ต้องเห็นผลลัพธ์ชัดเจนในระยะสั้น “หมอโสภณ” วอนผลักดันเพิ่มนักระบาดฯ เดินหน้าเมกะโปรเจกต์ 2.66 พันล้านบาท ยกระดับความมั่นคงด้านคุมโรค

วันนี้ (26 ส.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ หสเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. พร้อมทีมที่ปรึกษา รมว.สธ. ตรวจเยี่ยมเพื่อรับฟังการดำเนินงานของกรมควบคุมโรค (คร.) เป็นแห่งแรก โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. รองอธิบดี คร. ผู้บริหารและบุคลากรของกรมฯ ให้การต้อนรับ พร้อมมอบนโยบายการทำงาน

นพ.โสภณ กล่าวว่า งานที่จะเดินหน้าต่อไปในอนาคต คือ มีเป้าหมายการจัดการลดโรคและภัยสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคหัด โรคพิษสุนัขบ้า โรคเอดส์ อุบัติเหตุ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นต้น การพัฒนาระบบป้องกันควบคุมโรค โดยการออก พ.ร.บ. โรคติดต่อฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ เพื่อบังคับใช้ โดยตาม พ.ร.บ. จะกำหนดให้มีคณะกรรมการระดับชาติ คณะกรรมการระดับจังหวัด และคณะกรรมการช่องทาง เพื่อวางระบบเฝ้าระวังโรคและการจัดการในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังมีโครงการยกระดับความมั่นคงและความเป็นเลิศด้านควบคุมโรคของประเทศ (เมกะโปรเจกต์) งบประมาณรวม 2,665.97 ล้านบาท ระหว่างปี 2560 - 2567 อยู่ระหว่างรอเสนอ ครม. เห็นชอบ ซึ่งจะมีศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข มีทีมสอบสวนโรคสหสาขา ฯลฯ มาดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นการควบคุมและป้องกันโรคระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโรคไม่ติดต่อ โรคติดต่อ โรคติดเชื้อ รวมไปถึงการป้องกันด้วยวัคซีน ฯลฯ

“สิ่งสำคัญสำหรับการควบคุมโรค คือ บุคลากร โดยเฉพาะทีมระบาดวิทยา ซึ่งปัจจุบันยังถือว่าขาดแคลน เฉพาะแพทย์ด้านนี้มี 176 คน โดยกรมฯ มีแผนการผลิตแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน หรือระบาดวิทยา จึงจะเรียนเสนอ รมว.สธ. ในการผลักดันเรื่องนี้” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า แม้ตนจะเป็นศัลยแพทย์แต่ก็เคยเป็นนักระบาดวิทยา ที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (CDC) จึงเห็นว่า งานด้านระบาดวิทยาและป้องกันโรคมีความสำคัญและเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคของประเทศ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา คร. สามารถดำเนินการได้ดีมาโดยตลอด อย่างกรณีโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ก็ทำได้ดี ไม่ให้มีการแพร่ระบาด ถือว่าน่าชื่นชมมาก อย่างการทำงานที่ CDC มา 1 ปี ทำให้ทราบว่างานระบาด เป็นงานสนุก แต่ที่สำคัญคือ ต้องวางระบบการจัดการให้ดีด้วย โดยจำเป็นต้องสร้างระบบให้เหมาะสมกับประเทศ รวมทั้งการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้อยู่ในระบบก็สำคัญ

ทุกคนคิดว่าผมมาเพื่อแก้ปัญหาให้ทั้งหมด แต่ความจริงคนที่จะแก้ปัญหาได้คือทุกคน เพราะผมไม่ได้รู้ทุกอย่าง หรือเก่งทุกอย่าง แต่พวกท่านรู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ดังนั้น การเสนอจึงไม่ใช่เสนอแค่ปัญหามา แต่ต้องเสนอแนวทางการแก้ปัญหามาด้วย ทางที่ดีที่สุดคืออะไร มีแผนการดำเนินการอย่างไร หากส่วนไหนทำได้ภายในกระทรวง ผมก็จะดำเนินการทันที หรือหากเป็นเรื่องที่ต้องประสานหน่วยงานภายนอก เช่น เรื่องบุคลากรที่ต้องประสานกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็จะช่วยประสานให้ และต้องให้เห็นผลลัพธ์ในระยะสั้นด้วย ว่า 3 เดือนเป็นอย่างไร 6 เดือนจะได้อะไร หากระบุให้ชัดเจนจะดีมาก และสิ่งไหนที่ดำเนินการก่อนได้ก็ให้ดำเนินการ ไม่จำเป็นต้องรอ เช่น พ.ร.บ. โรคติดต่อ ซึ่งมีการบังคับใช้แน่ ๆ ส่วนไหนเดินหน้าก่อนได้ก็ทำเลย เมื่อบังคับใช้แล้วก็จะได้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง” รมว.สธ. กล่าว

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ทีมระบาดวิทยา มีความสำคัญมากในการป้องกันและควบคุมโรค โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญ ๆ ต่าง ๆ แต่ปัจจุบันประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมสอบสวนควบคุมปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งขณะนี้มีเพียง 7 คน จากความต้องการจริง ๆ ทั้งประเทศต้องมีมากกว่า 20 คน โดยที่กำลังดำเนินการคือ การผลิตนักระบาด การฝึกอบรมให้มีความสามารถอย่างต่อเนื่อง และการดึงให้คนกลุ่มนี้อยู่ในระบบ

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คร. กล่าวว่า การดึงนักระบาดวิทยา หรือสายงานระบาดวิทยาให้อยู่ในระบบได้ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ค่าตอบแทน และความก้าวหน้าในสายงาน หากแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ จะแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่






กำลังโหลดความคิดเห็น