นพ.ปรีดา แต้อารักษ์
ผอ.สปสช.เขต 8 อุดรธานี
จากสถานการณ์ความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขที่เกิดขึ้นมายาวนาน และดูเหมือนว่ายังไม่มีที่ทางจะคลายตัวได้นั้น ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้ คือ ความขัดแย้งครั้งนี้ อาจเรียกได้ว่า เป็น “ทวิภพ” ที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ในทัศนะของคนสองกลุ่ม ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงทั้งความคิดและการกระทำ อันที่จริง ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยของเรา กลับถูกคนบางกลุ่มตอกลิ่มให้ “ร้าวลึก” อย่าง “จงใจ” จนน่าหวั่นใจว่า กว่าจะสามารถสมานรอยร้าวได้ อาจต้องใช้เวลายาวนานไปอีกหลายปี และทำให้คนไทยเสียโอกาสในการรับบริการที่ดีมีคุณภาพ จากความร่วมมือในการทำงานของทั้งสองหน่วยงานไปอย่างน่าเสียดาย
น่าเสียดาย ขณะที่นานาชาติเห็นความสำเร็จจนองค์การสหประชาชาติยกให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างในการพัฒนาให้กับนานาประเทศ ชื่นชมยินดีกับคนไทยที่มีหลักประกันความมั่นคงทางสุขภาพ แม้ประเทศจะไม่ได้ร่ำรวยแบบชาติตะวันตก แต่ก็ทำได้ดีกว่าหลายประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าประเทศไทย อย่างน่าอิจฉา ช่องว่างของการเข้าถึงการบริการสุขภาพระหว่างคนจนกับคนรวยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่สหรัฐฯ ใช้งบประมาณต่อหัวประชาชนมากกว่าประเทศไทยกว่า 8,000 เหรียญต่อปี หรือมากกว่าไทยถึง 8 เท่า แต่มีคนอีกกว่า 30 ล้านคน ที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีความเหลื่อมล้ำและการฟ้องร้องทางการแพทย์มากมาย และความสำเร็จของไทยนี้เกิดได้เพราะความร่วมมือของทุกภาคส่วน จากหน่วยบริการในระบบ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กองทัพ กระทรวงต่าง ๆ ที่มีหน่วยบริการ รพ. มหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยบริการเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน ที่มีส่วนร่วมผลักดันกันมาตั้งแต่ต้น
น่าเสียดายที่ รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ใช้จุดแข็งของระบบหลักประกันสุขภาพของไทย เพื่อเปิดประตูให้ประเทศเข้าสู่เวทีสากล โดยใช้จุดแข็งที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชากรทุกคนในประเทศไทยซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ เห็นได้จากการที่นานาประเทศชักแถวขอเข้ามาศึกษาดูงานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุข และที่ สปสช. อย่างไม่ขาดสาย ผู้นำองค์กรระดับโลกต่างให้การยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ผู้อำนวยการธนาคารโลก และผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ประเทศไทยควรใช้จุดเด่นนี้ “เป็นลมหายใจที่มีค่ายิ่งต่อการยืนบนเวทีโลกอย่างสง่างาม” ขณะที่การยอมรับประเทศไทยจากนานาชาติในเรื่องอื่น ๆ มีพื้นที่เหลือน้อยลงอย่างน่าใจหาย
น่าเสียดาย ที่วาทกรรมที่สร้างให้ “ระบบหลักประกันสุขภาพ” หรือ “บัตรทอง” เป็น “ภาระของประเทศ” เป็น “ประชานิยม” ทั้ง ๆ ที่รัฐได้ใช้จ่ายในเรื่องอื่น ๆ มากกว่านี้มากมาย เช่น ปี 58 งบประมาณเรื่องการศึกษาที่ครอบคลุมเฉพาะนักเรียนนักศึกษา ก็มีมากกว่า 5 แสนล้านบาท เทียบกับงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทองที่ สปสช. ได้รับ และของกระทรวงสาธารณสุขรวมกันที่ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งมีเพียง 2 แสนกว่าล้าน ก็มากกว่า 2 เท่า เรื่องหลักประกันสุขภาพเป็น “ความจำเป็น” เป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงของประเทศ เป็นความสำคัญที่รัฐต้องลงทุน เพราะเป็นการสร้างคุณภาพชีวิต สร้างคุณภาพคน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาชาติที่ได้ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจกลับคืนมามากกว่าที่ลงทุนไปหลายเท่าตัว ยังไม่รวมเรื่องอื่น ๆ ที่รัฐบาลจ่ายไปโดยประเมินความคุ้มค่าได้ไม่ชัดเจนซึ่งสมควรทบทวนและปรับประสิทธิภาพอย่างจริงจัง และถ้าหากมีการซื้อของที่ไม่จำเป็นแจกเพียงเพื่อหาเสียงหรือ หวังผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือผลทางการเมือง นั่นแหละถึงจะเรียกว่า “ประชานิยม”
น่าเสียดาย กับโอกาสที่หายไป ตลอดระยะเวลา 13 ปี ที่ระบบหลักประกันสุขภาพเคลื่อนตัวมาได้อย่างน่าภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศ ที่ทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันความมั่นคงทางสุขภาพในฐานะมนุษย์ที่สมควรได้รับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยตามความจำเป็นไม่ว่ายากดีมีจน ซึ่งเป็นผลงานของผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานในระบบหลักประกันสุขภาพ นานาชาติให้การยอมรับ และกล่าวถึงความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ คุณค่านี้มิใช่ว่าประเทศใดหรือใครจะได้มาง่ายๆ เหมือนปลูกต้นไม้กว่าจะงอกงามเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงานั้น ต้องใช้เวลาหลายปี
น่าเสียดายที่หลายคนไม่ทราบความจริง บางคนรับฟังมาจากปากคนอื่น บางคนอาจเชื่อโดยขาดการแยกแยะ หากทบทวนกันให้ดี มีหลายเรื่องที่ปรับเปลี่ยนไปหลายครั้งตามเสียงสะท้อนของผู้เกี่ยวข้อง จนบางครั้งก็ถูกบ่นว่า “เปลี่ยนเร็วไป” หลายเรื่องที่คิดว่าจะใช้ไปสักระยะหนึ่งก่อน ก็ถูกสะท้อนกลับอีกด้านว่า “ทำไม่ไม่ยอมเปลี่ยน” และสิ่งที่คนทั่วไปอาจไม่ทราบคือ กระบวนการตัดสินใจต่าง ๆ มีคณะทำงานระดับประเทศที่ประกอบด้วยทุกฝ่ายทั้ง ผู้ซื้อบริการ ผู้ให้บริการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนวิชาชีพ ประชาชน กระบวนการตัดสินใจไม่สามารถทำได้เพียงลำพังโดย สปสช.
กลายเป็นว่า หลายปีที่ผ่านมา พวกเราทั้งผู้มีหน้าที่บริหารเงินกองทุนฯ และผู้บริหารงานบริการ ต้องมาขัดแย้งกันอย่างหนัก โดยเวลาส่วนใหญ่ได้เสียไปกับการทะเลาะเบาะแว้ง แทนที่จะได้ใช้เวลาในการร่วมกันสร้างสรรค์งานเพิ่มประสิทธิภาพของระบบและเพิ่มคุณภาพของบริการ รวมทั้งช่วยกันต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาซึ่งงบประมาณจากรัฐบาลหรือร่วมกันสังเคราะห์ข้อเสนอให้มีแหล่งรายได้เข้าสู่กองทุนในรูปแบบหรือช่องทางต่างๆ อย่างเพียงพอและไม่เกิดการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยไม่ว่าจะรวยหรือจน หากช่วยกันอย่างจริงจังและจริงใจ อะไร ๆ ก็คงจะดีกว่านี้อย่างแน่นอน ว่าแต่ว่า นี่จะเป็นจริงได้ หรือเป็นเพียง “ความฝัน” ลม ๆ แล้ง ๆ
น่าเสียดาย ที่สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นแต่กลับต้องสะดุด ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการ คตร. มีความเห็นว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข ขัดต่อวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
ทำให้ สปสช. จำเป็นต้องหยุดการจ่ายเงินดังกล่าวแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายไปก่อน จนกว่าจะมีข้อยุติที่ให้จ่ายได้ ซึ่ง สปสช. พยายามแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนโดยเสนอให้บอร์ดเห็นชอบอนุมัติให้ใช้งบสนับสนุนกิจการภาครัฐที่ได้รับจากองค์การเภสัชกรรมจ่ายช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ให้บริการไปพลางก่อน
น่าเสียดายหรือไม่ หากความเสียหายของบุคลากรที่ตั้งใจบริการประชาชน จะไม่สามารถใช้เงินกองทุนเหมาจ่ายรายหัวได้ ทั้งที่เกี่ยวกับการบริการประชาชนจริง ๆ
การช่วยเหลือนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ให้บริการ โดยเป็นเงินช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ ให้กับตัวผู้ได้รับความเสียหาย หรือมอบให้กับครอบครัว นอกจากเป็นการช่วยเหลือด้านการเงินโดยตรงแล้วยังสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการคุ้มครอง นอกจากการมุ่งสร้างหลักประกันสุขภาพรองรับสิทธิของประชาชนแล้ว พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังให้ความสำคัญและคุ้มครองดูแลผู้ให้บริการด้วยเช่นกัน
กรณี “พยาบาลเดินทางไปกับรถพยาบาลเพื่อนำผู้ป่วยส่งต่อ แต่รถส่งต่อประสบอุบัติเหตุพยาบาลเสียชีวิต” “แพทย์ให้บริการผู้ติดเชื้อวัณโรคแล้วป่วยเป็นวัณโรค” “พยาบาลถูกผู้ป่วยจิตเวชทำร้าย” ไม่เกี่ยวกับการบริการตรงไหน งบที่ได้มาก็เพื่อบริการ สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดบริการ การสร้างหลักประกันความมั่นใจ ความอบอุ่นใจ แก่บุคลากรให้มีกำลังใจในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพแก่ประชาชน หากบอกว่าขัดต่อวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. ก็ต้องบอกว่า
น่าเสียดายกับ “โอกาสที่หายไป” จริงๆ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่