นโยบายหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินหน้าสนับสนุน คือ ผลักดันให้นำนวัตกรรมการแพทย์และสาธารณสุขฝีมือคนไทยมาสู่การใช้งานจริง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข ลดการนำเข้าสินค้าทางการแพทย์จากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณไปได้อย่างมหาศาล
เรียกได้ว่า วิจัยโดยคนไทย ผลิตและใช้ในประเทศ
ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็ได้ให้มีการจัดงานมหกรรม “ตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทย ผลิตภัณฑ์จากแนวคิด สิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์” ขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 20 ส.ค. 2558 ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมจัดงานนี้
ทั้งนี้ ผลงานสิ่งประดิษฐ์หนึ่งที่ได้รับความสนใจให้นำมาจัดแสดงภายในงานนี้ด้วย ก็คือ นวัตกรรม “เก้าอี้ทำฟันพลังงานลม” ซึ่งได้รับการสนับสนุนการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีจาก สวทช.
โดยนายประพันธ์ วิไลเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เด็นทอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะผู้วิจัยและผลิตเก้าอี้ทำฟันพลังงานลม เล่าว่า การวิจัยนวัตกรรมนี้เป็นการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานจริง นั่นก็คือ ทันตแพทย์ ซึ่งจริง ๆ แล้วการประดิษฐ์ไม่ใช่แค่ตัวเก้าอี้ทำฟัน แต่เป็นยูนิตทำฟันทั้งหมด ที่ใช้ในการทำหัตถการด้านทันตกรรม โดยเริ่มจากตัวถาดวางเครื่องมือมีการออกแบบให้คนไข้ขึ้นลงเก้าอี้ทำฟันได้สะดวก และทันตแพทย์ไม่ต้องลุกมาขยับตัวถาด เพราะการลุกไปขยับถาดบ่อย ๆ ทำให้ได้รับเสียงสะท้อนจากทันตแพทย์ว่าทำให้เข่าบาดเจ็บได้ หรืออย่างอ่างบ้วนปากก็ออกแบบให้สามารถเลื่อนมาอยู่ด้านหน้าคนไข้ได้ เพื่อช่วยให้คนไข้ อย่างเช่น ผู้สูงอายุที่ลุกนั่งลำบากไม่ต้องเอี้ยวตัวไปบ้วนปากด้านข้าง
นายประพันธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังออกแบบมาเพื่อประหยัดไฟและสามารถเคลื่อนย้ายยูนิตทำฟันไปใช้งานนอกสถานที่ได้ เพราะพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการปรับระดับของเก้าอี้ทำฟันและโคมไฟส่องสว่าง อุปกรณ์ภายในใช้มอเตอร์ดีซี ใช้ไฟ 24 โวลต์ 0.8 แอมป์ ถือว่ามีความปลอดภัย เพราะกระแสไฟฟ้าต่ำมาก และยังสามารถเชื่อมต่อกับแบตเตอรีรถยนต์ได้ จึงสามารถใช้งานนอกสถานที่ได้ แม้ไม่มีไฟฟ้า ซึ่งหากเป็นเก้าอี้ทำฟันจากต่างประเทศจะใช้ไฟ 220 โวลต์ 14 แอมป์ สำหรับชุดระบบหัวกรอฟัน ดูดเลือด ดูดน้ำลาย หัวเป่าน้ำลายละอองน้ำ ทำงานด้วยพลังงานลม โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการประดิษฐ์หลักการเดียวกับ “การลักน้ำ” เพื่อแก้ปัญหาไฟดับ หรือน้ำท่วม เพราะหากเป็นเก้าอี้ทำฟันจากต่างประเทศที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า เมื่อไฟดับก็ไม่สามารถใช้การได้ หรือหากน้ำท่วมอุปกรณ์เสียหายก็จะเกิดปัญหา แต่นวัตกรรมนี้ยังสามารถใช้ได้แม้ไฟดับ หรือเกิดปัญหาน้ำท่วม
“หลักการทำงานของพลังงานลม คือ โรงพยาบาลจะมีแท็งก์ลมขนาดใหญ่ มีลมภายในตลอดเวลา ก็เพียงทำการต่อท่อลมมายังยูนิตทำฟัน และเมื่อหมอเหยียบอุปกรณ์ให้กลไกวาล์วลมทำงาน ลมก็จะเข้ามายังยูนิตทำฟัน มาผ่านด้ามกรอให้หมุน และผ่านตัวเจเนอเรเตอร์ให้เกิดพลังงานไฟฟ้าออกเป็นแสงสว่างในการส่องปากของคนไข้ เช่นเดียวกับระบบดูดน้ำลายดูดเลือด ก็อาศัยลมที่เข้ามาในการช่วยดูด ซึ่งการออกแบบทุกอย่างในยูนิตทำฟันได้มีการจดสิทธิบัตรทั้งหมดแล้ว”
สำหรับสิ่งที่ตอบโจทย์นโยบายของนายกรัฐมนตรีที่สุด ก็คือ เมื่อไทยผลิตและไทยใช้ บริการหลังการขายเมื่ออุปกรณ์ชำรุดเสียหาย ก็ง่ายและสะดวกกว่าอุปกรณ์นำเข้า โดยนายประพันธ์ กล่าวว่า หากต้องเปลี่ยนอะไหล่ในส่วนของเก้าอี้ทำฟันนำเข้าต้องใช้เวลามากกว่า 15 วัน และค่าอะไหล่แพงมาก ซึ่งบางครั้งเมื่อชำรุดแล้วก็ไม่สามารถซ่อมได้ แต่การใช้ของไทย การผลิตในไทยทำให้การเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ชำรุดเป็นไปโดยง่าย และมีราคาถูกกว่า ซึ่งอะไหล่บางอย่างหาซื้อเองได้ และทันตแพทย์สามารถเปลี่ยนอะไหล่เองได้ โดยที่ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ
นอกจากเก้าอี้ทำฟันพลังงานลมแล้ว นายประพันธ์ ยังบอกด้วยว่า มีการพัฒนาเก้าอี้ทำฟันพลังงานลมสำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้พิการด้วย โดยยูนิตทำฟันมีลักษณะเดียวกับยูนิตทำฟันปกติที่ผลิต แต่ตัวเก้าอี้เปลี่ยนเป็นฐานที่รองรับรถเข็นหรือวีลแชร์ ซึ่งภายในใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแรงดันต่ำ 12 โวลต์ดีซี 2 ลูก ในการปรับระดับวีลแชร์ทั้งคัน ช่วยให้ไม่ต้องยกคนไข้ขึ้นลงจากวีลแชร์ไปยังเก้าอี้ทำฟัน ซึ่งช่วยลดการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นการทำวิจัยร่วม 4 หน่วยงาน คือ สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Nectec) ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และบริษัท ไทยเด็นทอลฯ ซึ่งจากการทดลองใช้ที่สถานบันทันตกรรมทันตแพทย์และคนไข้มีความพึงพอใจ
“การเปิดตลาดนัดนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการให้โอกาสผู้ผลิตและผู้ใช้งานได้มาเจอกัน และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้เห็นว่าของที่ไทยวิจัยและผลิตก็มีคุณภาพ หากใช้ของไทยก็ช่วยเศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียน ลดงบประมาณที่ต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และเมื่อผลงานของไทยดีพอ ก็สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศ เป็นการสร้างรายได้กลับประเทศได้อีกด้วย” นายประพันธ์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่